ตอนที่ 53 ประวัติเพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงไทยเดิม

ตอนที่ 53 ประวัติเพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงไทยเดิม

ตอนที่ 53 ประวัติเพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงไทยเดิม
ชื่อเพลง : เพลงเสี่ยงเทียน
ผู้ขับร้อง : มัณฑนา โมรากุล
ชื่อเพลง : เพลงแม่ศรีเรือน
ผู้ขับร้อง : วินัย จุลละบุษปะ
ชื่อเพลง : เพลงดำเนินทราย
ผู้ขับร้อง : เอื้อ สุนทรสนาน และ มัณฑนา โมรากุล
ชื่อเพลง : เพลงจำปาทอง
ผู้ขับร้อง : วินัย จุลละบุษปะ
ชื่อเพลง : เพลงคลื่นกระทบฝั่ง
ผู้ขับร้อง : จันทนา โอบายวาทย์
ความยาว : 30.10 นาที
รายละเอียด : 
เพลงไทยสากลที่ได้ท่วงทำนองมาจากเพลงไทยเดิมหรือได้มาจากเพลงเก่า เป็นเพลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และเกิดขึ้นอย่างมากมายในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) และเรือโทมานิต เสนะวีณิน ได้เริ่มแต่งเพลง และต่อมาได้นำเพลงไทยสากลมาใช้มากขึ้นในสมัยที่ได้มีการสร้างวงดนตรีไทยสากลของวงโฆษณาการเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2482
เข้าใจว่าบุคคลคนแรกที่นำเพลงไทยแท้มาประดิษฐ์ขึ้นเป็นทางสากล คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ซึ่งได้ทรงนำเพลงไทยสากลของเก่าหลายเพลงมาประดิษฐ์ขึ้นเป็นทางบรรเลงสำหรับเครื่องดนตรีต่าง ๆ เช่น นำเพลงสารถีมาเป็นทางเดี่ยวสำหรับแตรคอร์เน็ต และทรงนำเพลงที่เกี่ยวข้องกับทะเล 2 เพลง คือ เพลงทะเลบ้า กับ เพลงคลื่นกระทบฝั่ง มารวมกันแล้วทำเป็นทางบรรเลงด้วยแตรวงประทานชื่อใหม่ว่า “เพลงสาครลั่น” อย่างไรก็ดีทูลกระหม่อมบริพัตรได้ทรงประดิษฐ์เฉพาะแต่ทางบรรเลงเท่านั้น
สำหรับทางขับร้องจะต้องยกให้แก่ พรานบูรพ์ หรือ จวงจันทร์ จันทร์คณา ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ทำเพลงสากลประเภทขับร้องโดยใช้ทำนองจากเพลงเก่าของไทยซึ่งก็มีอยู่มากมายหลายเพลงด้วยกันดังที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์และละครหลายเรื่องของพรานบูรพ์นั้น ถัดจากพรานบูรพ์มาก็มีผู้ที่นำเพลงไทยของเก่ามาทำเป็นเพลงไทยสากลที่มีชื่อเสียงอีก 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแรก กลุ่มของผู้ที่ทำงานอยู่ในกรมโฆษณาการ มี ครูเวส สุนทรจามร ครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือสุนทราภรณ์ ซึ่งร่วมมือกับนักประพันธ์บทเพลงหรือคำร้องคนสำคัญ คือ ครูแก้ว อัจฉริยกุล อีกค่ายหนึ่งก็เป็นค่ายซึ่งห่างมาจากกรมประชาสัมพันธ์ บุคคลสำคัญในกลุ่มนี้เช่น ครูสมาน กาญจนะผลิน ครูสง่า อารัมภีร และยังมีอีกหลายท่าน เนื่องจากเรามีเพลงไทยของเก่าซึ่งไม่ทราบชื่อคนแต่งไว้เป็นจำนวนมาก ก็เปรียบเสมือนขุมทรัพย์อันหนึ่งซึ่งทำให้นักแต่งเพลงในยุคต่อ ๆ มานั้นสามารถที่จะหยิบยกทำนองเพลงโบราณมาประดิษฐ์ใส่เนื้อร้องเข้าไปในลักษณะต่าง ๆ กัน บ้างก็ประสบความสำเร็จ บ้างก็ทำให้เกิดชื่อเสียงโด่งดังขึ้น เพราะเหตุว่าใส่เนื้อร้องเข้าไปได้พอเหมาะพอสมกับท่วงทำนองเหล่านั้น
ในเทปม้วนนี้จะมีเพลงไทยสากล ของกรมประชาสัมพันธ์หรือกรมโฆษณาการในระยะแรกเริ่มซึ่งนำทำนองของเก่ามาใช้ขับร้องเป็นเพลงสากล สองเพลงแรกคือ เพลงเสี่ยงเทียน ซึ่งมาจาก เพลงลาวเสี่ยงเทียน สองชั้น ขับร้องโดย คุณมัณฑนา โมรากุล ติดตามมาด้วยเพลงแม่ศรีเรือน ซึ่งมาจากเพลงสีนวล ขับร้องโดย คุณวินัย จุลละบุษปะ สองคนนี้เป็นคู่พระคู่นาง ของวงดนตรีไทยกรมโฆษณาการมาตั้งแต่ปี 2482 ในสมัยนั้น ครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูแก้ว อัจฉริยกุล ครูเวส สุนทรจามร 3 ท่านนี้เป็นหัวแรงหลักในการที่จะนำเพลงไทยของเก่ามาประดิษฐ์ขึ้นเป็นเพลงไทยสากล
เพลงเสี่ยงเทียนนั้นเป็นเพลงที่ไม่ทราบผู้แต่ง หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำมายืดเป็นอัตราสามชั้นและตัดลงเป็นชั้นเดียว ปรากฏว่าได้กลายรูปออกมาเป็นเพลงที่ชื่อเกี่ยวข้องกับการเสี่ยงเทียนได้มากมายหลายเพลงด้วยกัน โดยเริ่มต้นจากเพลงเสี่ยงเทียน ที่คุณมัณฑนา โมรากุลร้องก่อน ต่อมาก็เป็นเพลงชื่อเสี่ยงเทียนคอยคู่ แล้วก็เป็นเพลงชื่อเสี่ยงเทียนเสี่ยงรัก และอื่น ๆ อีกหลายเพลงรวมทั้งทำนองเพลงที่อยู่ในชุดของเพลงลูกทุ่งด้วย
สำหรับเพลงที่ชื่อ แม่ศรีเรือน นั้น มาจากเพลงที่ชื่อสีนวลในซึ่งใช้รำสีนวลกันมาก่อนนะครับ แล้วก็สมัยนั้นมีโรงเรียนวิชา Home Economics เกิดขึ้นเราเรียกโรงเรียนนั้นว่า โรงเรียนการเรือน ซึ่งปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนสภาพจากโรงเรียนการเรือนมาเป็นวิทยาลัยครูสวนดุสิต นายวินัย จุลละบุษปะ ร้องให้กับโรงเรียนการเรือน ในสมัยนั้นครูโรงเรียนการเรือนคนสำคัญ อาทิ อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน สอนขับร้อง หรือแม้แต่กระทั่งท่านผู้หญิงของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ คือ คุณหญิงบุญเรือน
เพลงซึ่งมาจากเพลงไทยเดิมอีก 2 เพลงคือ เพลงดำเนินทราย กับ เพลงจำปาทอง เพลงลาวดำเนินทรายนั้นเป็นเพลงซึ่ง จ่าเผ่นผยองยิ่ง หรือจ่าโคม เป็นผู้แต่งขึ้น เป็นทำนองขับร้องสำหรับเล่นสักวา ต่อมาพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้ทำทำนองปี่พาทย์สำหรับบรรเลงรับ ใช้ร้องอำลาในการเล่นสักวา ครูแก้ว อัจฉริยกุล กับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้นำเพลงนี้มาปรับเป็นเพลงขับร้องคู่กันแล้วครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นคนร้องคนแรก คู่กับ คุณมัณฑนา โมรากุล ส่วนเพลงจำปาทอง มาจากเพลงจำปาทองเทศของเก่า คุณวินัย จุลละบุษปะ ขับร้อง
เพลงสุดท้ายเป็นเพลงคลื่นกระทบฝั่ง เป็นเพลงไทยหน้าทับสองไม้ของเก่าแก่มีมาแต่โบราณ ซึ่งคณะสุนทราภรณ์หรือวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้นได้นำมาทำเป็นจังหวะกัวราช่าที่มีจังหวะคึกคักน่าฟังและบรรเลงด้วยลักษณะลีลาตะวันตกอย่างไพเราะ ครูศิริ ซึ่งเป็นคนเล่นเปียโนอยู่ในขณะนั้น ได้วาดลวดลายการเล่นเปียโนอย่างงดงามน่าชมเป็นอย่างยิ่ง คุณจันทนา โอบายวาทย์ เป็นคนขับร้อง
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 53
หัวเรื่อง : ประวัติเพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงไทยเดิม
หัวเรื่อง : รายการเพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 53
ผู้จัดรายการ : พูนพิศ อมาตยกุล
สถานที่จัดเก็บ : https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol-53/ ‎