ประวัติ

ประวัติ

ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์

ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 โดยศาสตราจารย์นายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล  ซึ่งเป็นผู้อํานวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท  มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับนางวิภา  โกยสุขโข ผู้อํานวยการสํานักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโครงการไปยังมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อขอจัดตั้งห้องสมุดดนตรีขึ้นในอาคารสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในมงคลวโรกาสที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ และเป็นการสนับสนุนการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัยทางดนตรี และเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมดนตรีไทย โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ จํากัด จํานวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)

ศาสตราจารย์นายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล
นางวิภา  โกยสุขโข
  • พ.ศ. 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์” และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดห้องสมุดดนตรีฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พุทธศักราช 2535

คลิกชมวีดิทัศน์ พิธีเปิดห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

  • พ.ศ. 2551 สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยมหิดล จะทำการปรับปรุงอาคาร ชั้น 1-3 (ปีกซ้าย) “ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์” จึงต้องย้ายมาอยู่ ณ ชั้น 3 (ปีกขวา) ของอาคารสำนักหอสมุดฯ จวบจนปรับปรุงอาคารเสร็จ แต่เนื่องจากในการปรับปรุงได้ทำแต่เฉพาะชั้น 1 เพียงชั้นเดียว ทำให้ห้องสมุดดนตรีฯ ไม่สามารถย้ายกลับไปอยู่ ณ ห้องเดิมได้
  • พ.ศ. 2552 ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจัดเก็บข้อมูลเสียงบางส่วนให้อยู่ในรูปของไฟล์ดิจิทัล และจัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ทาง URL : http://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการฯ ระยะที่ 1 วันที่ 13 สิงหาคม 2553 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวโรกาสให้ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เลขานุการมูลนิธิราชสุดา นําคณะผู้เข้าเฝ้าประกอบด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่าย เทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้อํานวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทน ธนาคารกรุงเทพ และคณะผู้จัดทําเว็บไซต์และระบบคอมพิวเตอร์สําหรับบริการข้อมูล เพลง เสียงดนตรี รวมทั้งหนังสือเสียงสําหรับคนพิการ ของห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล เฝ้าทูลละอองพระบาท ณ อาคารชัยพัฒนา เพื่อถวาย รายงานและแสดงผลการปรับปรุงเทคโนโลยีห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์และสาธิตการใช้งานระบบดังกล่าว พร้อมทั้งขอพระราชทานพระราชดําริก่อนที่จะเปิด ให้บริการแก่นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
  • พ.ศ. 2558 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการต่อเนื่องจากโครงการฯ ระยะที่ 1 เพื่อเทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฉลิมพระชนพรรษาครบ ๕ รอบ
  • พ.ศ. 2560 ปรับปรุงห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ ให้พร้อมใช้งาน และได้ดำเนินโครงการจัดห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ขึ้นใหม่

ภารกิจ

ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ เป็นแหล่งเรียนรู้และให้บริการสารสนเทศทางดนตรี ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อมัลติมีเดีย (Multimedia) ทางดนตรี ตลอดจนการให้บริการในรูปแบบออนไลน์ โดยรวบรวม ประมวลองค์ความรู้ และเผยแพร่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจ และเข้าถึงได้ง่าย ผ่านทางเว็บไซต์ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ เว็บไซต์ SoundCloud (Sirindhorn Music Library) เว็บไซต์ Youtube (Sirindhorn Music Library Mahidol University) และ Facebook Page (ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์)

1. รวมรวม จัดเก็บ และพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศทางดนตรีอันทรงคุณค่าอย่างเป็นระบบ

  • ซีดี  (Compact Disc)
  • แผ่นเสียง  (Phonodisc)
  • เลเซอร์ดิสก์  (Laser Disc)
  • วิดีทัศน์  (Video)
  • โน้ตเพลง  (Music Note)

2. บริการสารสนเทศออนไลน์

  • บริการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศทางดนตรี ประเภทสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์และฐานข้อมูลทางดนตรี โดยสามารถสืบค้นได้ทาง URL : http://www.li.mahidol.ac.th

3. บริการช่วยการวิจัยทางดนตรีและประชุมกลุ่มย่อย

  • บริการช่วยการวิจัยทางดนตรี
  • บริการสถานที่เพื่อประชุมกลุ่มย่อย

4. ทรัพยากรสารสนเทศประเภทสิ่งพิมพ์

  • ให้บริการ ณ บริเวณ ชั้น 3 อาคารหอสมุดฯ ภายในห้องวารสารและวิทยานิพนธ์

ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

ห้องเก็บสื่อโสตทัศนวัสดุทางดนตรี
เทปคาสเซ็ท
ซีดี
แผ่นเสียงและเลเซอร์ดิสก์
โน้ตเพลง
พื้นที่สำหรับนั่งอ่าน วิจัย หรือประชุมกลุ่มย่อย

ทรัพยากรสารสนเทศประเภทสิ่งพิมพ์ ให้บริการ ณ บริเวณ ชั้น 3 อาคารหอสมุดฯ ภายในห้องอ่านวารสารและวิทยานิพนธ์