สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กับการดนตรีไทย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กับการดนตรีไทย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือมณีพลอยร้อยแสง ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ เกี่ยวกับเรื่อง “เหตุใดข้าพเจ้าจึงชอบดนตรีไทย” ว่าการที่พระองค์ได้ยินเสียงดนตรีมาตั้งแต่ประสูตินั้น พระองค์ทรงตรัสว่าในระยะต้นๆ ก็ไม่ได้สนใจมากนัก ทรงมีความรู้สึกอยากเล่นเพียงนิดหน่อย แต่เมื่อได้เห็นและได้ฟังอย่างตั้งใจแล้วจึงได้รู้แจ้งว่าเพลงไทยนั้น มีความไพเราะและสนุก คนไทยจำนวนมากเห็นว่าเพลงไทยเป็นเพลงที่ฟังแล้วน่าเบื่อ หรือไม่รู้เรื่อง แต่พระองค์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าถ้ามีความใส่ใจที่จะศึกษาจริงๆ แล้วจะเข้าถึงความไพเราะ สนุกสนาน ก่อนทรงเรียนดนตรีไทยพระองค์ยังไม่ทรงรู้จักเครื่องดนตรีไทยด้วยซ้ำไป เพียงแต่ทรงรู้จักทำนองเพลงไทยง่ายๆ ที่คุ้นหูเท่านั้นแต่ ปัจจุบันพระองค์เป็นผู้ที่ทรงรอบรู้ทั้งทางด้านวิชาการด้านดนตรี และทรงพระปรีชาสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีไทยได้หลายชนิดรวมไปถึงการขับร้องและพระราชนิพนธ์บทร้องไว้หลายเพลงด้วย

จากข้อเขียนของ ศาสตราจารย์เกีรยติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เรื่อง “เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ สยามบรมราชกุมารีทรงดนตรีไทย” ที่เขียนให้ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดพิมพ์เนื่องในนิทรรศการพิเศษ การอนุรักษ์มรดกไทย เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๓๒ นั้น มีข้อความว่า

สำหรับการศึกษาทางดนตรีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น
จากพระราชประวัติ ที่ทรงไว้ด้วยพระองค์เองก็ดี หรือที่บรรดาครูต่างเล่าสืบต่อกันมาก็ดี มีที่น่าสังเกตว่า การศึกษาดนตรีของพระองค์นั้น มิใช่เป็นเรื่องของการ “ตามเขาไปด้วยค่านิยม” หรือเพราะด้วยการเรียนในโรงเรียนบังคับ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะไม่ทรงดนตรีต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ทรงดนตรีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานซึ่งจะต้องเกิดจากความศรัทธาในพระทัยโดยแท้จริง และผู้ที่ก่อให้เกิดความศรัทธานั้นก็คือบรรดาพระอาจารย์ที่ถวายบทเรียนดนตรีไทยนั่นเอง

ครั้งหนึ่งทรงเล่าว่า ดนตรีไทยนี้เล่นแล้วติด ที่ติดนั้นไม่ใช่เพราะทรงสนุกเท่านั้น แต่เพราะมีผู้ที่ทรงถูกพระราชอัธยาศัย ร่วมในกิจกรรมดนตรีนั้นด้วย เช่นพระสหายที่ชอบดนตรีอย่างแท้จริง ร่วมวงหัดซ้อมด้วย มีพระอาจารย์ที่ไม่ได้ถวายการสอนอย่างเดียวแต่ถวายเรื่องอื่นๆ เป็นการบันเทิงพระทัย และก่อให้เกิดความสนพระทัยด้วย ทรงเล่าถึงอาจารย์กำชัย ทองหล่อ ที่นำบทเพลงไทยเข้ามาสอนในวิชาวรรณคดีและภาษาไทย ทรงเล่าถึง คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ที่สอนไปพลางเล่าเรื่องเก่าแก่ที่เป็นเกร็ดสนุกสนานเล็กๆ น้อยๆ แถมมีขนมนมเนยมาชวนกันรับประทานในกลุ่ม ทรงเล่าถึงอาจารย์ภาวาส บุนนาค ซึ่งเล่าเรื่องเครื่องดนตรีวิเศษนานาชนิด เป็นประวัติยืดยาวน่าสนใจ ทำให้ทรงได้ความรู้เรื่องเครื่องดนตรีอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนวิธีสร้างเครื่องดนตรีไทย ทรงทราบแม้แต่แหล่งที่ผลิตว่าที่ใดดี ช่างคนไหนทำดี ตลอดไปจนถึงใครเป็นผู้มีฝีมือดี ให้เสียงดี เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบให้ทรงเรียนรู้ดนตรีไทยอย่างกว้างขวาง อันที่จริง เมื่อสมัยที่ทรงเริ่มเรียนดนตรีใหม่ๆ ที่โรงเรียนจิตรลดานั้น ทรงได้พระอาจารย์สองท่านคือ ครูนิภา อภัยวงค์ และครูจินดา สิงหัตน์ ซึ่งสอนเครื่องสาย คือซอด้วง ซึ่งก็โปรดเหมือนกัน แต่โปรดระนาดมากกว่า ครูเห็นว่าพระองค์ท่านเป็นเจ้าฟ้าหญิงตีระนาดไม่เหมาะ

ยิ่งเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระราชธิดาดูจะเป็นนักเลงมากเกินไปไม่สมพระเกียรติยศ ตามแบบโบราณที่คิดกันประจำ การทรงซอในชั้นต้นจึงค่อนข้างจะฝืนพระทัยอยู่บ้าง แต่ก็ทรงได้จนทรงอ่านโน้ตเพลงไทยออกทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือหรือตัวเลข และก็ตามธรรมดาของผู้ที่รักใคร่ปรารถนาดี เห็นทรงซอด้วงก็ถวายซอ แต่ไม่เคยมีใครถวายระนาดก็เลยต้องทรงซอมาโดยตลอด

สมัยเมื่อทรงพระเยาว์นั้น เพลงลูกทุ่งกำลังเฟื่องฟูมาก และเพลงลูกทุ่งนั้น มีทำนองหลักไม่กี่รูปแบบ ทั้งส่วนมากยังได้เค้าเดิมมาจากดนตรีไทยแท้ ความคุ้นเคยกับทำนองเพลงไทยที่ได้จากเพลงลูกทุ่งก็เกิดตามมา ซอและขลุ่ยเป็นของเบา ใกล้พระหัตถ์จะทรงบรรเลงเมื่อใดก็ได้ และเมื่อจะทรงร้องก็ทรงร้องได้ง่าย การขับร้องเพลงไทยก็ติดตามมาอีก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล ยังเขียนอีกว่า การทรงดนตรีเป็นส่วนพระองค์ในพระราชฐานนั้นมีเป็นครั้งคราว และทรงเลือกวงเข้าไปบรรเลงตามแต่จะมีโอกาสตามได้ บางทีก็เป็นพระสหาย ข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด บางครั้งนานๆ ทีก็ทรงรับแขกเป็นการส่วนพระองค์ที่พระตำหนักเรือนต้น ในบริเวณจิตรลดานั้น มีครั้งหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จลงเสวยตอนค่ำ เป็นการเลี้ยงต้อนรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จกลับจากการศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย วันนั้นตรงกับวันดนตรีไทยอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้เสด็จ จะหานักดนตรีก็ไม่ได้ เพราะนักเรียนและครูต่างก็ขึ้นไปเชียงใหม่กันหมด ต้องตามนักเรียนนายเรือมาบรรเลงแทน แถมตัวเก่งๆ ก็ไปเชียงใหม่กันหมด ครูยรรยง แดงกูร คุมวงนักเรียนมา และผู้เขียนก็ถูกตามเข้าไปช่วยกะทันหัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงซออู้ ครูยรรยงสีซอด้วง เป็นวงมโหรีที่ไม่เรียบร้อยนัก เรียกว่าใช้แก้ขัด เสวยเสร็จสามทุ่ม สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถก็มีพระราชประสงค์จะทรงฟังเพลงลาวดวงเดือน ซึ่งเป็นเพลงที่โปรดมาก รับสั่งกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯว่า “ชายร้องเพลงลาวดวงเดือนให้แม่ฟังหน่อย ร้องแบบที่แม่ชอบนะ แม่น้อยบรรเลงเพลงเข้าแล้วให้น้องเล็กฟ้อนด้วยนะ….”ผู้เขียนนั่งอยู่หน้าวงดนตรี ได้ยินชัดทุกองค์ที่รับสั่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็เสด็จมาประทับหน้าวงดนตรี รับสั่งเบาๆว่า คอยบอกเนื้อร้องด้วย จำได้ไม่หมด เนื้อยาวตั้งหลายท่อน ทรงร้องสองเที่ยวกลับ ตามแบบของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ขนานแท้

เป็นบุญหู บุญตาโดยแท้ ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงพระองค์เล็ก ทรงฉลองพระองค์แพรสีอ่อนยาว พระหัตถ์ข้างหนึ่งทรงถือโคมไฟ ทรงฟ้อน โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงขับร้อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงซออู้ ทุกคนเงียบกริบ ทุกอย่างผ่านไปอย่างเรียบร้อย น่ารัก น่าชมเหลือที่จะบรรยายได้ จบแล้วเสียงปรบมือกราวใหญ่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถรับสั่งว่า “ต่อไปนี้แม่ไม่ต้องจ้างใครมาร้องรำละครให้ดูอีกแล้ว มีลูกสามคนเท่านั้น ร้องรำบรรเลงเสร็จ”

โอกาสเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย การที่สมเด็จเจ้าฟ้าสามพระองค์จะทรงดนตรีและนาฏศิลป์พร้อมกันโดยทรงเอื้ออำนวยแก่กันเป็นทีมเช่นนี้ หากทุกพระองค์ไม่โปรดดนตรีไทยร่วมกันแล้ว ไม่มีทางที่จะเกิดกิจกรรมหน้าพระที่นั่งดังที่ได้เล่ามานี้ได้เลย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนิพนธ์บทเพลง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโปรดงานร้อยกรองมาตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนจิตรลดา จึงพระราชนิพนธ์บทกลอน และบทเพลงไว้เป็นอันมาก เพลงแรกที่ทรงคือเพลงลูกทุ่งชื่อเพลงส้มตำ ต่อจากนั้นก็พระราชทานบทร้องต่างๆเป็นครั้งคราว และทรงคัดลายพระหัตถ์เนื้อเพลงเหล่านั้นอย่างงดงาม นอกจากนี้ก็มีเพลงเต่าเห่ ซึ่งเป็นบทกล่อมนอนสอนใจเด็กที่มีชื่อเสียงมาก จนสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ขอพระราชทานไปพิมพ์เผยแพร่ เป็นที่น่าสนใจว่า โปรดพระราชนิพนธ์เพลงอำลา ปรากฏว่าทรงบทร้องเพลงปลาทองเถา เพลงเต่ากินผักบุ้ง เพลงอกทะเล และเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง ซึ่งเป็นทำนองเพลงอำลาที่นิยมใช้กันในวงการดนตรีไทยบ่อยที่สุด

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับงานพระราชดำริเกี่ยวกับดนตรี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีเครื่องดนตรีทั้งของไทยแท้ และของต่างชาติเป็นเครื่องดนตรีส่วนพระองค์จำนวนมาก รับสั่งว่า ของเหล่านี้มาเอง โดยมิได้ทรงกะเกณฑ์หรือขอใครมา ที่ทรงซื้อด้วยเงินส่วนพระองค์ก็มีบ้างแต่น้อยมาก ครั้งหนึ่งทรงพระกรุณาโปรดฯให้ทำบัญชีเครื่องดนตรีส่วนพระองค์ พบว่ามีมากมายกว่า ๔๐๐ ชิ้น มากพอที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีได้อย่างสบาย แต่ยังหาสถานที่และโอกาสเหมาะที่จะสร้างไม่ได้ เหนือไปกว่านั้น ได้มีผู้น้อมเกล้าถวายเครื่องดนตรีชนิดที่เรียกว่ายกวงทั้งวงมาถวาย เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถวายเครื่องดนตรีของเก่าสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นไม้สลักรูปดอกไม้ด้วยงาช้าง งดงามมาก คุณชวลิสตร์ กันตารัติ ถวายเครื่องปี่พาทย์มอญทั้งชุดและปี่พาทย์ไทยทั้งชุด ดร.มนู อมายกุล ถวายซอสามสายของเก่าของต้นตระกูลอมาตยกุล ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ถวายกรับเสภาของสกุลดุริยประณีต วังคลองเตยถวายระนาดแก้วสองราง ฯลฯ มากมายสุดจะพรรณนาได้หมดสิ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมประวัติเครื่องดนตรีเอกบางชิ้นของชาติ และเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเครื่องดนตรีต่างๆ บรรดาที่มีชื่อในประเทศไทยและมีประวัติหรือตำนานเกี่ยวข้อง

กิจกรรมสร้างสรรค์ดนตรีนั้น ที่เห็นชัดเจนและเป็นเรื่องที่สมควรจะบันทึกไว้ก็คือ การสร้างเครื่องปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ของจุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เมื่อทรงทราบว่าป่าไม้ไทย ไม่สามารถหาไม้มะริดมาทำรางระนาดได้ ก็ทรงพระอุตสาหะ ให้กรมป่าไม้มาถวายบ้าง พระราชทานไม้ตะเคียนทองของส่วนพระองค์ให้ทดลองทำบ้าง ตลอดจนถึงเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศพม่าก็ทรงหาไม้มะริด ก็ได้มาบ้างตามพระราชประสงค์ แต่ไม่เพียงพอที่จะใช้ทำเครื่องดนตรีได้ทั้งวง คงได้แต่เพียงระนาดเอกงดงามมากเพียงรางเดียว

การที่มีผู้ถวายพระราชสมัญญา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า “องค์เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” นั้นเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เฉพาะในส่วนของดนตรีก็ได้เห็นพระราชจริยาวัตรมากมายหลายประการ ซึ่งพอสรุปได้ดังต่อไปนี

๑. ทรงวางพระองค์เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนไทย โดยทรงดนตรีไทย ขับร้องเพลงไทย และพระราชทานวโรกาสพิเศษ โดยเสด็จลงทรงดนตรีไทยร่วมกับประชาชนทุกเพศทุกวัยเสมอมา
๒. ทรงเป็นนักวิชาการดนตรี โดยทรงศึกษารายละเอียดต่างๆ ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ สามารถพระราชทานข้อวินิจฉัยข้อแนะนำและทรงปฏิบัติได้อย่างถ่องแท้
๓. ทรงอนุรักษ์ดนตรีไทย ทั้งในด้านการชำระโน้ตเพลง บันทึกเพลงเก่าและเผยแพร่งานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง
๔. พระราชนิพนธ์บทความเกี่ยวกับดนตรีไทย ดนตรีต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับไทย และเพลงไทยอย่างต่อเนื่อง
๕. ทรงส่งเสริมช่างผลิตเครื่องดนตรีไทย สนับสนุนให้ใช้เครื่องดนตรีไทยในการเรียนดนตรีของเยาวชน โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องดนตรีต่างประเทศ
๖. ทรงส่งเสริมสถาบันต่างๆ ให้จัดรายการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย เช่น การประชันปี่พาทย์ การทรงสักวา การแสดงนาฏศิลปะ โดยเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานและทรงร่วมในกิจกรรมดนตรีทั้งหลายอย่างใกล้ชิด
๗. ทรงสนับสนุนการเก็บรักษาและอนุรักษ์เครื่องดนตรีไทย และทรงเตรียมที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีไทยขึ้นในประเทศ
๘. ทรงดนตรีไทยให้ต่างชาติได้เห็นถึงระบบระเบียบแห่งวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงความมีเอกราช และ ความมั่นคงของชาติ

ครูดนตรีอาวุโสท่านหนึ่งกล่าวว่า มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระองค์เดียว ยิ่งกว่ามีเทวดาหลายองค์มาโปรดวงการดนตรีไทย

“ดนตรีไทย ไม่สิ้น เพราะทูลกระหม่อมแก้ว เอาใจใส่”

เสรี หวังในธรรม