ตอนที่ 52 เพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงฝรั่ง

ตอนที่ 52 เพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงฝรั่ง

ตอนที่ 52 เพลงไทยสากลที่ได้ทำนองเพลงมาจากเพลงฝรั่ง
ชื่อเพลง : เพลงสามัคคีชุมนุม
ผู้แต่ง : ทำนองจากเพลง Auld Lang Syne เพลงเก่าแก่ของยุโรป
ชื่อเพลง : เพลงมาร์ชดอกประดู่
ผู้แต่งคำร้อง : กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ชื่อเพลง : เพลงคอยไหวหรือรักเรา
ผู้ขับร้อง : พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา)
ผู้แต่งคำร้อง :พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา)
ชื่อเพลง : เพลงไทยรำลึก
ผู้ขับร้อง : นักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยมหิดล
ชื่อเพลง : เพลงจอมราชจงเจริญ
ผู้แต่งคำร้อง : น้อย อาจารยางกูร
ความยาว : 29.27 นาที
รายละเอียด : 
ฝรั่งนั้นมีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยมาแต่ครั้งปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่แต่เฉพาะทางด้านเกี่ยวกับการแพทย์ การสาธารณสุข การเมือง และอื่น ๆ อีกหลายประการ ดนตรีก็พลอยมีส่วนเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงไปด้วย
เราเริ่มต้นใช้ทำนองเพลงฝรั่งและบรรจุบทร้องไทยลงไปในเพลงสำหรับแสดงความเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 4 และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยต้นรัชกาลที่ 5 คือเพลงที่ใช้ชื่อว่า จอมราชย์จงเจริญ โดยบทร้องเป็นบทโคลงสี่สุภาพ และทำนองเป็นทำนองที่ได้มาจากเพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษคือเพลง God Save the King หรือเพลง God Save the Queen
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีผู้ที่กลับจากต่างประเทศทั้งกลับจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาทุกคนที่กลับเข้ามาก็นำเอาเพลงของประเทศเหล่านั้นเข้ามาสู่ประเทศไทย ยกตัวอย่างเพลงที่ชื่อว่า “Auld Lang Syne” เพลงนี้เป็นเพลงเก่าแก่ของยุโรปซึ่งร้องกันอยู่ในประเทศอังกฤษ และแม้ในประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา มักจะร้องหลังจากที่มีการประชุมพบปะหารือกันเสร็จสิ้นลง เพลงนี้ได้มีผู้นำกลับเข้ามาเมืองไทยแล้วก็แต่งบทร้องใส่ลงไปไว้ บทร้องนั้นได้ตั้งชื่อว่าเพลงสามัคคีชุมนุม ซึ่งเป็นเพลงที่มีชื่อเสียงมากเพลงหนึ่ง และเคยหัดร้องกันอยู่ในโรงเรียนต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 8 วงดนตรีที่จะบรรเลงบันทึกแผ่นเสียงไว้โดยใช้เนื้อเก่านั้นไม่มี คงมีแต่ท่วงทำนองบรรเลงเพลงสามัคคีชุมนุม
เพลงชื่อสามัคคีชุมนุมหรือเพลง Auld Lang Syne ในหนังสือบทเพลงแห่งความหลังของ ศาสตราจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย ท่านได้เขียนเล่าไว้ว่า เพลงสามัคคีชุมนุมนี้ท่านเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นผู้แต่งแปลงมาจากเพลง Auld Lang Syne ของฝรั่ง แล้วบทร้องนั้น ก็มีอยู่ว่า
พวกเรา เหล่ามาชุมนุม ต่างกุมใจรัก สมัครสมาน
ล้วนมิตร จิตชื่นบาน สราญเริงอยู่ ทุกผู้ทุกนาม
*อันความกลมเกลียว กันเป็นใจเดียว ประเสริฐศรี
ทุกสิ่งประสงค์จงใจ จักเสร็จสมได้ ด้วยสามัคคี
กิจใด ธ ประสงค์มี รวมใจภักดี แด่พระจอมสยาม
พร้อมพรึบดังมือเดียวยาม ยากเย็นเห็นง่าย บ่หน่ายบ่วาง(*)
ที่หนักก็จักเบาคลาย ที่อันตราย ก็ขจัดขัดขวาง
รักษาพระเดชบ่จาง กตเวทิคุณ พระกรุณา
สามัคคีนี่แหละลำเลิศ จักชูชาติเชิดพระศาสนา
สยามรัฐจักวัฒนา ปรากฏเกียรติฟุ้งเฟื่อง กระเดื่องแดนดิน(*)
เพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากฝรั่งนั้นยังมีเพลงที่ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ท่านนำมาจากเพลงชื่อเพลง Coming Thro’ the Rye เข้าใจว่าจะเป็นเพลงเก่าแก่ของอังกฤษ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ท่านทรงเป็นพระบิดาแห่งกองทัพเรือ ท่านสร้างโรงเรียนนายเรือและเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือพระองค์แรก ท่านทรงแต่งเพลงที่จะเป็นเพลงปลุกใจทหารเรือ ขึ้นต้นบทร้องว่า
หะเบสสมอพลันออกสันดอนไป
ลัดไปเกาะสีชังจนกระทั่งกระโจมไฟ
เที่ยวหาข้าศึก มิได้นึกจะกลับมาใน
ถึงตายตายไป ตายให้แก่ชาติของเรา
พวกเราดูรู้ เจ็บแล้วต้องจำ
ลับดาบไว้พลาง ช้างบนยอดกาฟฟ์จะนำ
ไทยเป็นชาติของเรา ธงทุกเสาชักขึ้นทุกลำ
ถึงเรือจะจมในน้ำ ธงไม่ต่ำลงมา
เกิดมาเป็นไทย ใจร่วมกันแหละดี
รักเหมือนพี่เหมือนน้อง ช่วยกันป้องปฐพี
ไทยเป็นชาติของเรา อย่าให้เขามาย่ำมายี
ถึงตายตายดี ตายในหน้าที่ของเรา
พวกเราทุกลำ จำเช่นดอกประดู่
วันไหนวันดี บานคลี่พร้อมอยู่
วันไหนร่วงโรย ดอกโปรยตกพรู
ทหารเรือเราจงดู ตายเป็นหมู่เพื่อชาติไทย
เพลงนี้ชื่อว่าเพลงมาร์ชดอกประดู่ พระนิพนธ์ของเสด็จในกรมฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มาจากเพลงฝรั่งชื่อ Coming Thro’ the Rye
ช่วงปลายรัชกาลที่ 7 ต่อสมัยรัชกาลที่ 8 นักแต่งเพลงไทยสากลท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากก็คือ พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) ได้แต่งละครร้องขึ้นหลายเรื่องด้วยกัน เป็นคนที่มีความสามารถในการแต่งเพลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมีความจำเป็นจะต้องแต่งเพลงอย่างมากมายในละครร้องแต่ละเรื่อง บางครั้งก็มีความจำเป็นจะต้องหยิบยืมทำนองจากต่างประเทศเข้ามาใช้ พรานบูรพ์ได้นำเพลง Sleepy Lagoon มาบรรจุเนื้อร้องเป็นภาษาไทยลงไปแล้วตัวท่านเองก็ขับร้องเพลงนี้อัดแผ่นเสียงด้วยตัวเอง ให้เพลงชื่อนี้ใหม่ว่า “คอยไหวหรือรักเรา” เสียงเก่าของตรากระต่ายห้าง ต.เง็กชวน
อีกเพลงหนึ่งก็คือเพลง Home Sweet Home ซึ่งแต่งโดยคีตกวีชาวอังกฤษชื่อว่า Bishop คนไทยที่ไปต่างประเทศคิดถึงบ้านก็เลยแต่งเนื้อเพลงนี้ขึ้นแล้วก็ให้ชื่อเพลงนี้ว่า ไทยรำลึก บันทึกเสียงใหม่โดยให้นักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยมหิดล
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 52
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลที่ได้ทำนองมาจากเพลงฝรั่ง
หัวเรื่อง : รายการเพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 52
ผู้จัดรายการ : พูนพิศ อมาตยกุล
สถานที่จัดเก็บ : https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol-52/ ‎