ตอนที่ 1 ประวัติกำเนิดเพลงไทยสากลระยะแรกเริ่ม สมัยรัชกาลที่ 5 และพระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ตอนที่ 1 ประวัติกำเนิดเพลงไทยสากลระยะแรกเริ่ม สมัยรัชกาลที่ 5 และพระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ตอนที่ 1 : ประวัติกำเนิดเพลงไทยสากลระยะแรกเริ่ม สมัยรัชกาลที่ 5 และพระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ชื่อเพลง : เพลงสรรเสริญเสือป่า
ชื่อเพลง : เพลงมหาฤกษ์
ชื่อเพลง : เพลงโศก
ชื่อเพลง : เพลงวอล์ซปลื้มจิต
ผู้ประพันธ์คำร้อง : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ความยาว : 25.32 นาที
รายละเอียด :
แถบบันทึกเสียงเพลงไทยสากลจากอดีตชุดนี้ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเรียนการสอนในวิชาประวัติการดนตรีของไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดเพลงไทยสากล ซึ่งได้เริ่มต้นเล่ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 สำหรับในตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประพันธ์เพลงไทยสากลคนแรกของเมืองไทย และมีผู้ยกย่องว่าเป็นพระบิดาเพลงไทยสากล
ดนตรีไทยสากลนั้นได้รับวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งใช้ดนตรีประกอบในกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการบรรเทิง ได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยโดยพระในนิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic) และ นิกายโปรเตสแตนต์ (Protestantism) ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ดนตรีของฝรั่งได้แพร่หลายเข้ามาในรูปของดนตรีศาสนา แต่ไม่ได้แพร่หลายสู่ประชาชนไทย เพลงเหล่านั้นจึงอยู่ในโบสถ์ วัด อารามของคริตส์ศาสนิกชนเท่านั้น เพลงฝรั่งเข้ามามีบทบาทมากในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อกัปตันน็อกซ์ (Thomas G. Knox) และกัปตันอิมเปย์ (Impey) เข้ามาจากอินเดีย ในสมัยรัชการที่ 4 โดยกัปตันน็อกซ์ได้เข้าไปช่วยฝึกทหารอยู่ในวังหน้า และกัปตันอิมเปย์ได้เข้าไปช่วยฝึกทหารอยู่ในวังหลวง และทั้งสองคนได้เริ่มใช้แตรฝรั่งเป่าเป็นสัญญาณต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเริ่มต้นจากการนำเอาแตรสัญญาณทหารเข้ามาใช้เพื่อให้ทหารไทยได้ใช้แตรเป่าสัญญาณต่างๆ และนำมาเป่าในการเดินแถวด้วย จึงกล่าวได้ว่าเพลงในกองทัพอังกฤษได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเพลงไทยในระยะแรกเริ่มโดยยังไม่เกิดเพลงไทยขึ้นเลย โดยยืมเพลง “God Save the Queen” หรือเพลงชาติอังกฤษ โดยนำมาเปลี่ยนเนื้อเป็นภาษาไทย ชื่อ “จอมราชจงเจริญ” เรายังถือว่ายังไม่มีเพลงไทยสากลเกิดขึ้น
ต่อมามีทหารเรืออเมริกันเข้ามาและยกวงโยธวาทิตเข้ามาบรรเลง ก็ได้นำเพลงต่างๆ เข้ามาเผยแพร่ เช่นเดียวกับมิชชันนารีอเมริกาได้นำเพลงต่างๆ เข้ามาเผยแพร่ด้วย ก็ยังถือเป็นเพลงฝรั่งอยู่ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จกลับจากยุโรป ประมาณปี 2448 และทรงลงไปบังคับบัญชากองทัพเรือและทรงดนตรีกับกองดุริยางค์แห่งราชนาวี จึงได้ทรงพระนิพนธ์เพลงไทยสากลต่างๆ ขึ้น โดยเริ่มต้นจากเพลงที่จำเป็นต้องใช้ก่อน ได้แก่เพลงที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เพลงที่นำมาใช้สำหรับพิธีกรรม โดยได้ทรงหารือกับเจ้าฟ้าหลายๆ พระองค์ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในการทำทำนองเพลงไทยให้เป็นฝรั่ง และพินิจพิจารณาในการประสานเสียงให้เป็นทำนองฝรั่งด้วย เพลงที่นำมาใช้ในพิธีกรรมสมัยแรกได้แก่เพลง “เพลงมหาฤกษ์มหาชัย” ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เพิ่ม “เพลงสรรเสริญเสือป่า” ซึ่งดัดแปลงมาจาก “เพลงบุหลันลอยเลื่อน” ให้เป็นทำนองฝรั่ง นอกจากนั้นได้นิพนธ์เพลงฝรั่งจริงๆ เช่น “เพลงวอลซ์ประชุมพล” “เพลงวอลซ์โนรี” เพลงในจังหวะโพลก้า (Polka) เช่นเพลง “เพลงมณฑาทอง” และเพลงอื่นๆ อีกหลายเพลง คุณจำนง รังสิกุล จึงยกย่องให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นคนไทยคนแรกที่แต่งเพลงไทยสากล
ตัวอย่างเพลงไทยสากลในพระราชนิพนธ์ในระยะแรกซึ่งได้ทรงเปลี่ยนแปลงมาจากเพลงไทยเดิม คือ “เพลงบุหลันลอยเลื่อน” ซึ่งเป็นเพลงเก่าในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นทางสากล และประทานชื่อใหม่ว่า “เพลงสรรเสริญเสือป่า”  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดมาก เพลงที่ใช้ในพิธีกรรมอีกเพลง คือ “เพลงมหาฤกษ์” ซึ่งมีทั้งทางโบราณและที่แปลงเป็นทางสากลแล้ว ทูลกระหม่อมได้นำมาประสานเสียงตามแบบดนตรีสากลตามแบบตะวันตก โดยใช้หลักการประสานเสียงของประเทศเยอรมนี ซึ่งบรรเลงอย่างไทยสำเนียงฝรั่ง เรียกว่า “มหาฤกษ์บรรเลงอย่างเต็มรูปแบบ” โดยวงโยธวาทิตของกองดุริยางค์แห่งราชนาวี ซึ่งบรรเลงเพลงของทูลกระหม่อมบริพัตรชุดนี้ไว้เมื่อครั้งฉลองครบรอบ 100 พระชันษา เมื่อปี พ.ศ. 2524 อีกเพลงที่มี่ชื่อเสียงที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ “เพลงโศก” โดยวิธีการนำ “เพลงพญาโศก 2 ชั้น” มาทำเป็นจังหวะสโลว์มาร์ช แล้วประสานเสียงแบบตะวันตก กลายเป็นเพลงที่ใช้เดินอย่างช้าๆ ในพิธีศพ หรือที่เรียกว่า “ฟิวเนอรัลมาร์ช” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้นำมาใช้ในงานออกพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 เป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของทูลกระหม่อมบริพัตร ในการที่จะทรงดัดแปลงเพลงไทยเดิมเป็นเพลงไทยสากล แต่ก็เรียกว่ายังไม่ได้ทรงพระนิพนธ์เพลงไทยสากลแท้ๆ ขึ้นเลย
จนกระทั่งในระหว่างปี พ.ศ. 2448-2450 ได้เกิดเพลงพระนิพนธ์เพลงไทยสากลขึ้นจริงๆ ถือเป็นเพลงไทยสากลเพลงแรก คือ “เพลงวอลซ์ปลื้มจิต” นอกจากนี้ก็มี “เพลงวอลซ์ประชุมพล เพลงวอลซ์เมฆขลา เพลงวอลซ์โนรี เพลงมณฑาทอง และได้ทรงพระนิพนธ์เพลงมาร์ชอีกหลายเพลง เช่น เพลงมาร์ชบริพัตร เพลงมาร์ชพาณุรังษี เพลงมาร์ชดำรงค์ เพลงมาร์ชจิระ เพลงมาร์ชวชิราวุธ”
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 1
หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลระยะแรกเริ่ม
หัวเรื่อง : รายการเพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 1
ผู้จัดรายการ : พูนพิศ อมาตยกุล
สถานที่จัดเก็บ : https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol-1/