พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๕๑- ๒๔๐๘)

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๕๑- ๒๔๐๘)

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

(พ.ศ.๒๓๕๑- ๒๔๐๘)

 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒ (วังหน้า) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นพระบรมราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ และสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ พระชนมายุได้ ๕๗ พรรษา 

ในประวัติการดนตรีของไทยเรานั้น หากศึกษาให้ถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการดนตรีไทยเป็นอันมาก ดังปรากฎตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคิดประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยยึดหลักจากกล่องเพลงที่ฝรั่งทำมาขายในสมัยนั้น กล่องเพลงนี้ ภายในมีโลหะคล้ายรูปหวี มีขนาดสั้นเรียงไปหายาว เมื่อไขลานแล้วจะมีแท่งโลหะรูปทรงกระบอกหมุน บนผิวกระบอกนั้นมีปุ่มโลหะซึ่งจัดไว้ให้หมุนไปสะกิดหวีโลหะนั้นเหมือนเราใช้เล็บกรีดหวีเล่น ก็จะเกิดเป็นเสียงออกมา กล่องเพลงที่กล่าวถึงนี้ ปัจจุบันก็ยังมีขายด้วยยังนิยมใช้กันอยู่ สำหรับวางหูโทรศัพท์เพื่อรอคนมารับสาย 

จากบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ นี้ทำให้เราได้เห็นพระมหากรุณาธิคุณว่า ระนาดเหล็กช่วยให้วงดนตรีไทยขยายขนาดขึ้น เมื่อนำเข้าประสมวงแล้ว จะทำให้ “วงดนตรีปี่พาทย์เครื่องคู่” เปลี่ยนเป็น “ปี่พาทย์เครื่องใหญ่” ทำให้เกิดเสียงประสานไพเราะน่าฟังยิ่งขึ้น และระนาดเหล็กนี้ต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงนำมาประสมเป็นวง “ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์” 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงมีวงดนตรีส่วนพระองค์ที่เข้มแข็งมากที่สุดในเมืองไทยขณะนั้น คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔  ถึงสิ้นรัชกาลผู้ควบคุมวงดนตรี คือ พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) ท่านผู้นี้เป่าปี่เก่ง จนมีบันทึกไว้ในเสภาโบราณว่า “ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ” ทางด้านละครนั้น ทรงมีละครโรงใหญ่ ตลอดจนถึงมีงิ้วทั้งโรงอยู่ในวังด้วย พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ คือ พระองค์เจ้าดวงประภา (พระองค์ตุ้ย) และพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ (พระองค์ปุก) ก็ได้ทรงรับพระราชมรดกละครสืบมา ตัวละครในชุดนี้คนหนึ่ง ต่อมาได้เข้ามารับราชการในวังหลวง จนได้รับพระราชทานตำแหน่ง “คุณเฒ่าแก่” ชื่อ จีบ ซึ่งได้มาเป็นครูสอนขับร้องเพลงไทยที่ตำหนักพระวิมาดาเธอ ฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ  

ในส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีปรากฎในบันทึกของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกันว่า เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๘ ได้ไปเฝ้าสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ครั้งยังขานพระนามว่า “เจ้าฟ้าน้อย” ในวันนั้นได้ทรงพระกรุณาเป่าแคนและมีพนักงานมาร้อง “แอ่วลาว” ประกอบ หมอบรัดเลย์บันทึกไว้ว่า “ไพเราะจับใจดูเหมือนกับว่าได้ทรงศึกษามาเป็นอย่างดีจากโรงเรียนสอนดนตรีฉะนั้น” ท้ายสุดในพระชนมชีพปรากฎว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรด “แอ่วลาว” มากเสียจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พอพระทัยด้วยทรงเห็นว่าเป็นของลาว ไทยไม่ควรเอามาเป็นหลักยึดถือ จึงถึงออกพระราชบัญญัติห้ามเล่นแอ่วลาวกันทีเดียว อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการดนตรีไทยมากอยู่ และนับได้ว่าทรงเป็นผู้ส่งเสริมศิลปดนตรีและการละครไทยผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๓)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.