ประสงค์ พิณพาทย์ (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๓๖)

ประสงค์ พิณพาทย์ (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๓๖)

ประสงค์ พิณพาทย์

(พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๓๖)

 

นายประสงค์ พิณพาทย์ เป็นนักระนาดฝีมือดีคนหนึ่งของวงดนตรีไทย เกิดที่ตำบลบางปรอก จังหวัดปทุมธานี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ บิดาเป็นไทยเชื้อสายมอญ ชื่อเมี้ยะ มารดาเป็นคนไทยชื่อบุญนาค บิดามารดามีอาชีพทำสวนและเป็นนักดนตรีสืบเชื้อสายดนตรีรามัญมาจากปู่คงพันและย่าโล่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครูประสงค์จึงได้เรียนดนตรีกับบิดาตั้งแต่เล็ก มีพี่น้องท้องเดียวกันรวม ๘ คน เป็นนักดนตรีไทย ๖ คน คือ พี่สาวใหญ่ ชื่อ สะอาด เป็นคนฆ้องเล็ก น้องชายชื่อ เล็ก เป็นรอบวง น้องชายชื่อ ชั้น เป็นคนเครื่องหนัง น้องชายชื่อ เชาว์ และเบิ้ม ก็บรรเลงดนตรีไทยได้รอบวง เช่นเดียวกัน ส่วนน้องสาวอีก ๒ คนชื่อตุ๊ และแจ๋ว ไม่เป็นดนตรี พี่น้องทั้งหมดนี้ยึดอาชีพเป็นนักดนตรีอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี

เมื่อยังเยาว์ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดหงสา จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เริ่มเรียนดนตรีไทยจากบิดาเมื่ออายุ ๑๐ ปี โดยเริ่มเรียนฆ้องมอญก่อน จนสามารถร่วมวงบรรเลงกับครอบครัวได้ เพลงที่ต่อจากบิดาส่วนมากเป็นเพลงมอญ ต่อมาจึงเรียนเพลงไทยเพิ่มเติมกับครูฝุ่น ระนาดเสนาะ (ยังมีชีวิตอยู่ ในปี ๒๕๒๕) ต่อเพลงสาธุการ โหมโรงเช้า โหมโรงเย็น เพลงช้า และเพลงเรื่องต่างๆ แล้งจึงมาเรียนทางระนาดโดยเฉพาะจากครูเฉลิม บัวทั่ง เริ่มต่อเดี่ยวต่างๆ จนได้ครบทุกเดี่ยว ในขณะเดียวกันก็เรียนหน้าทับกลองต่างๆ จากครูเฉลิมด้วย  

พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้อุปสมบทที่วัดรังสิต โดยมีพระธรรมานุสาลี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีเป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้เข้ารับราชการในแผนกดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ จึงได้เรียนเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกจาก หลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตรวิลัย)  

ครูประสงค์ เริ่มสอนดนตรีไทยแก่ผู้อื่นตั้งแต่อายุ ๒๘ ปี โดยสอนที่บ้านปทุมธานีและที่โรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนดาราคาม และโรงเรียนปทุมคงคา เป็นต้น  

ชีวิตครอบครัว แต่งงานกับนักร้องกรมประชาสัมพันธ์ชื่อ ทัศนีย์ ดุริยประณีต มีบุตรชายเพียงคนเดียว ชื่อ ทัศนัย (ติ๊ก) ตีระนาดฝีมือดีมาก บรรดาศิษย์ที่ได้สอนไว้นอกจากทัศนัย พิณพาทย์แล้ว ยังมี ฉลวย และสมพร แววมณี (ฆ้อง) เป็นต้น 

ครูประสงค์ เป็นผู้มีฝีมือในการตีระนาดได้ชื่อว่า ตีระนาดไม้นวมและมโหรีไพเราะ ทางดีและเรียบร้อย ฝีมือระนาดเอกก็จัดอยู่ในระดับแนวหน้าคนหนึ่งเช่นเดียวกัน ได้แต่งเพลงไทยสำเนียงมอญไว้หลายเพลง เพลงสุดท้ายที่แต่งคือ เพลง “บัวขาว” ทางมอญ โดยดัดแปลงจากเพลงบัวขาว ของคุณหญิง ม.ล. พวงร้อย อภัยวงศ์  

ฝีมือระนาดของครูประสงค์ พิณพาทย์ ได้มีการบันทึกเสียงเอาไว้มากมายที่คณะเสริมมิตรบรรเลง ทั้งเพลงตับ เพลงเถา เพลงละคร และเพลงเดี่ยว เคยนำวงดนตรีเข้าประชันที่วัดพระพิเรนทร์และได้โล่รางวัลเกียรติยศ  

ในปี ๒๕๒๕ ยังทำหน้าที่เป็นคนระนาดประจำวงดนตรีเสริมมิตรบรรเลง ของนายเสริม ศาลิคุปต จนกระทั่ง ในปี ๒๕๓๖ ครูประสงค์ พิณพาทย์ ได้ถึงแก่กรรมลง  สิริรวมอายุได้ ๗๐ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก บันทึกประวัติศิลปินเพลงไทยและคำบอกเล่าของนายประสงค์ พิณพาทย์)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.