พระประดิษฐ์ไพเราะ ( มี ดุริยางกูร ) ( ไม่ทราบปีที่เกิด  และปีที่ถึงแก่กรรม )

พระประดิษฐ์ไพเราะ ( มี ดุริยางกูร ) ( ไม่ทราบปีที่เกิด  และปีที่ถึงแก่กรรม )

พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร)

(ไม่ทราบปีที่เกิด  และปีที่ถึงแก่กรรม)

 

พระประดิษฐ์ไพเราะ  นามเดิม มี  ดุริยางกูร  แต่คนทั่วไปมักเรียกกันว่า ครูมีแขก  ซึ่งคุณเปี่ยมศรี ดุริยางกูร  หลานทวดของท่าน เล่าให้ฟังว่า  อาจเป็นเพราะบ้านเดิมของท่านตั้งอยู่ในบริเวณสุเหร่า เหนือวัดอรุณราชวราราม  และเมื่อคลอดออกมาใหม่ ๆ นั้น ท่านมีสิ่งขาว ๆ คล้ายกระเพาะครอบศีรษะเหมือนหมวกแขก จึงได้สมญานามว่า ” แขก ” มาตั้งแต่เล็ก  ไม่มีผู้ใดทราบวันเดือนปีเกิดของครูมีแขก  แต่ยังพอจะอนุมานได้จากลายพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ปรากฏในสาส์นสมเด็จ ความว่า  

“ครูมีแขกนั้นหม่อมฉันรู้จักแต่เมื่อหม่อมฉันไว้ผมจุก ไปเรียนภาษาอังกฤษที่สมเด็จพระราชปิตุลา ประทับ ณ หอนิเพทพิทยา เห็นแกเดินผ่านไปหัดมโหรีของทูลกระหม่อมประสาท  ที่มุขกระสันพระมหาปราสาททุกวัน  เวลานั้นแกก็แก่มาก  อายุกว่า ๗๐ ปีแล้ว  มีบ่าวแบกซอสามสายตามหลังเสมอ  วันหนึ่งกรมหลวงประจักษ์ตรัสเรียก ให้แกแวะที่หน้าหอแล้วยืมซอสามสายแกมาลองสี แกฉุน  ออกปากว่า “ถ้าทรงสีอย่างนั้นไฟก็ลุก” จำได้เท่านั้น”  

จากลายพระหัตถ์ข้างต้นนี้แสดงว่า  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงเคยเห็นครูมีแขกขณะที่ทรงไว้พระเมาลี  ถ้าจะคะเนอายุก็เห็นจะอยู่ในราว ๑๐ ชันษา  จึงจะสามารถจำถ้อยคำที่ครูมีแขกพูดออกฉุนได้ชัดเจนเช่นนั้น  ถ้าทรงพระเยาว์กว่านั้นก็เห็นเหลือวิสัยจะทรงจำไว้ได้  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕ ดังนั้นปีที่ทรงเห็นครูมีแขกควรจะอยู่ในราว พ.ศ. ๒๔๑๕  ซึ่งทรงคาดว่าครูมีแขกมีอายุ ๗๐ ปีกว่า  เมื่อนับย้อนหลังจาก พ.ศ. ๒๔๑๕ ไปอีก ๗๐ ปี ก็จะตกในราว พ.ศ. ๒๓๔๕  ซึ่งตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  (พ.ศ. ๒๓๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๓๕๒) เช่นนี้แล้ว  ผู้เขียนจึงขอสันนิษฐานว่าครูมีแขกเกิดปลายรัชกาลที่ ๑ แห่งพระราชวงศ์จักรี  

ครูมีแขก เป็นครูดนตรีมาตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  จนถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ครูมีแขกได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่หลวงประดิษฐ์ไพเราะเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๓๙๖ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก ว่าราชการกรมปี่พาทย์ฝ่ายพระบวรราชวัง ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง ได้แต่งเพลงเชิดจีนแล้วนำขึ้นบรรเลงทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่สบพระราชหฤทัยยิ่งนัก  จึงโปรดให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระประดิษฐ์ไพเราะ  เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖  ภายในเวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้น ที่เลื่อนบรรดาศักดิ์จากหลวงเป็นพระ  ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ครูมีแขกได้เป็นครูมโหรีในสมเด็จกรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูรและถึงแก่กรรมประมาณต้นรัชกาลที่ ๕  

ผลงานทางดนตรีของครูมีแขกนั้นยิ่งใหญ่และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป  แม้ในคำไว้ครูปี่พาทย์ของโบราณก็ยังกล่าวถึงท่านไว้ว่า 

ทีนี้จะไหว้ครูปี่พาทย์  

ฆ้องระนาดมือดีปี่ไฉน  

ทั้งครูแก้วครูพักเป็นหลักชัย  

ครูทองอินนั่นแหละใครไม่เทียมทัน  

มือตอดหนอดหนักขยักขย่อน  

ตาพูนมอญมิใช่ชั่วตัวขยัน  

ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน  

เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ  

เพลงทยอยที่ว่านี้คือเพลงทยอยเดี่ยว  ซึ่งครูมีแขกแต่งขึ้น  สำหรับใช้เป่าเดี่ยวปี่อวดฝีมือโดยเฉพาะ  เป็นเพลงที่แสดงอารมณ์เศร้าและคร่ำครวญอย่างผิดหวังได้อย่างวิเศษ  ในทำนองโอดระคนโหยหวนของตอนต้น  ในตอนท้ายจึงเปลี่ยนเป็นทำนองพันระคนครวญแสดงถึงอาการละล้าละลังอัดอั้นตันใจ เป็นที่ดื่มด่ำใจแก่ผู้ได้ฟังยิ่งนัก  ในขั้นหลังสังคีตาจารย์จึงได้นำมาทำเป็นทางเดี่ยวของเครื่องมืออื่น ๆ ต่อมานับเป็นเพลงเดี่ยวชั้นสูงสุดเพลงหนึ่งของการบรรเลงเสภา  

ครูมีแขกนั้นเป็นต้นตำรับของการแต่งเพลงประเภทลูกล้อลูกขัด  จนได้สมญาว่า “เจ้าแห่งเพลงทยอย” ทั้งนี้เพราะเพลงทยอยสำคัญ ๆ ซึ่งถือเป็นแม่บทของเพลงประเภทลูกล้อลูกขัด เช่น ทยอยนอก  ทยอยเขมร  ล้วนเป็นผลงานนิพนธ์ของครูมีแขกทั้งสิ้น  โดยเฉพาะเพลงเชิดจีนนั้น นับได้ว่าเป็นเลิศในกระบวนเพลงโยนทั้งหลาย  เพราะนอกจากจะมีลีลาแปลกพิสดารไม่ซ้ำแบบเพลงโยนอื่น ๆ ที่เคยมีมาก่อนแล้ว  ยังเป็นเพลงโยนเพลงเดียวที่ไม่ต้องใช้หน้าทับเข้าประกอบในการขับร้องและบรรเลง  ทั้งยังอาจใช้ประกอบการแสดงโขน ละคร  ได้อย่างพอเหมาะยากที่จะเป็นได้ในเพลงโยนอื่น ๆ  

มีเรื่องเล่ากันมาว่า  วันหนึ่งขณะที่ครูมีแขกเดินกลับจากสอนดนตรีในวัง ผ่านมาได้ยินพวกจีนเล่นมโหรีจีนกันอยู่ ก็ให้ศิษย์ที่มาด้วยกัน ๒ คน คือ ครูสิน ศิลปบรรเลง  ซึ่งเป็นบิดาของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) และครูรอด ช่วยกันจำไว้ พอถึงบ้านก็ได้นำมาเรียบเรียงประดิษฐ์ขึ้นเป็นเพลงชุดของเพลงจีน ๔ เพลง คือ จีนแส  อาเฮีย  ชมสวนสวรรค์  และเพลงแป๊ะ  ซึ่งกลายเป็นเพลงอมตะมาจนทุกวันนี้  แสดงให้เห็นถึงความช่างสังเกตจดจำและประดิษฐ์ตกแต่งสมราชทินนาม “ประดิษฐ์ไพเราะ” ของท่านโดยแท้  

เป็นที่เชื่อได้ว่า ครูมีแขกคงจะชำนาญในการเล่นเครื่องดนตรีทุกประเภทตั้งแต่ปี่ไปจนถึงซอสามสาย เพราะในรูปถ่ายของท่านซึ่งได้ถ่ายไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวที่พระยาราชานุประพันธุ์ (สุดใจ) จัดให้มีพิธีไหว้ครูขึ้นนั้นเป็นรูปถืดปี่เลาโปรด  ซึ่งภายหลังได้ตกเป็นสมบัติของ ครูจางวางทั่ว  พาทยโกศล และขนานนามกันว่า “ปี่ท่านพระ”  มาจนทุกวันนี้ (รูปที่เห็นแพร่หลายกันอยู่ทั่วไปเป็นรูปเขียนสีน้ำมันฝีมือขุนประเสริฐหัตถกิจ  ซึ่งเขียนจากรูปถ่ายนี้อีกทีหนึ่ง) ส่วนซอสามสายนั้นพิจารณาจากลายพระหัตถ์ของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ ย่อมแสดงว่า ครูมีแขกคงเป็นเอตทัคคะผู้หนึ่ง มิฉะนั้นแล้วไหนเลยจะกล้าออกปากค่อนพระราชวงศ์ชั้นสูงได้  ผู้ที่เล่นเป็นทั้งปี่และซอสามสายจนถึงชั้นเลิศ ทั้งสามารถแต่งเพลงโยน เช่น ทยอยนอก  ทยอยเขมร  เชิดจีน  ตลอดจนขยายเพลงเป็นสามชั้น เช่น แขกมอญ  สารถี  พญาโศก ฯลฯ ไปจนถึงแต่งเพลงช้าเพลงเร็ว เช่น เพลงเรื่องจีนแสด้วยแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องมีความชำนาญในทุกเครื่องมือเป็นฐาน จึงจะสามารถผลิตผลงานได้ถึงเพียงนี้  

งานคีตนิพนธ์ของครูมีแขกเท่าที่รวบรวมได้ มีดังต่อไปนี้ 

โหมโรงขวัญเมือง  การะเวกเล็กสามชั้น  กำสรวลสุรางค์สามชั้น  แขกบรเทศสามชั้น  แขกมอญสามชั้น แขกมอญบางช้างสามชั้น จีนขิมเล็กสามชั้น  สองชั้น  ตวงพระธาตุสามชั้น  ทะแยสามชั้น  สารถีสามชั้น  พญาโศกสามชั้น  พญาครวญสามชั้น  สี่บทสามชั้น  แป๊ะสามชั้น  สองชั้น  พระอาทิตย์ชิงดวงสองชั้น  จีนขิมใหญ่สองชั้น  เชิดจีน  ทยอยนอก  ทยอยเดี่ยว  ทยอยเขมร (เฉพาะเที่ยวกลับ) เทพรัญจวน (เฉพาะสามชั้นเที่ยวแรก) หกบทสามชั้น  อาเฮียสามชั้น  ภิรมย์สุรางค์ (ขยายขึ้นจากจีนแสสองชั้น) จีนแสสองชั้น  

ในด้านชีวิตครอบครัว  ครูมีแขกมีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อ ถึก  พระยาภูมีเสวินเล่าว่า  สีซอด้วงเพราะนัก  ปู่ถึก มีภรรยาชื่อ ไผ่ มีบุตรชายหญิง ๒ คน ชื่อ พลัด (หญิง) และชื่อ สาย (ชาย) ครูสายนั้นมีความสามารถในซอด้วงและซอสามสายเป็นอย่างดี  ภายหลังมีภรรยาชื่อ เพิ่ม มีบุตรธิดาด้วยกัน ๓ คน คือ หญิง ชื่อ แผ้ว ชาย ชื่อ ละม้าย และหญิง ชื่อ เปี่ยมศรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ตั้งร้านชื่อ “ดุริยบรรณ” ซึ่งเป็นชื่อที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพระกรุณาตั้งชื่อประทาน ที่มีชื่อเช่นนี้ เพราะเป็นร้านที่ขายทั้งหนังสือและเครื่องดนตรีไปด้วยกัน ล่วงมาประมาณปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ครูสายได้ร่วมมือกับขุนเจริญดนตรีการ (นายดาบเจริญ  โรหิตโยธิน) คิดโน้ตตัวเลข  บันทึกเพลงไทยแทนนิ้วซอ นิ้วจะเข้ และขลุ่ย  พิมพ์ออกจำหน่ายเผยแพร่เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ โดยใช้ชื่อว่า “เลขาสังคีตย์”  เป็นที่ได้รับความนิยมแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน  ทั้งได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑  ได้ทรงมีพระราชดำรัสชมเชยว่า เป็นประโยชน์ในการหัดดนตรีชั้นต้นได้อย่างดี  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ฯ และยังความปลื้มปิติแก่ผู้สืบสกุล “ดุริยางกูร” เป็นล้นพ้น

พิชิต ชัยเสรี 

(เรียบเรียงจาก หนังสือ “ประวัติดนตรีไทย” ของเจริญชัย  ชนไพโรจน์  หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณแม่เพิ่ม  ดุริยางกูร ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ และคำบอกเล่าของคุณเปี่ยมศรี  ดุริยางกูร)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.