พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) ( พ.ศ. ๒๔๑๙-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) ( พ.ศ. ๒๔๑๙-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน)

( พ.ศ. ๒๔๑๙-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

พระประดับดุริยกิจ (แหยม  วีณิน) เป็นรองเจ้ากรมพิณพาทย์หลวง ในรัชกาลที่ ๖ ตำแหน่งปลัดกรม เกิดที่บ้านฝั่งธนบุรี ตำบลวัดดุสิตาราม เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นศิษย์ครูช้อย  สุนทรวาทิน จากวัดน้อยทองอยู่  และเรียนหนังสือกับสมภารแสงในวัดเดียวกัน  ตั้งแต่อายุได้ ๑๓ ปี ( พ.ศ. ๒๔๓๑ ) มีความรู้สามารถบรรเลงปี่พาทย์ได้ดี และที่มีความสามารถมากคือ วิชาเครื่องหนัง ต่อมาได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ สมัยเมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  รับพระราชทานเงินเดือนขั้นต้น ๒๐ บาท  เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ขึ้นครองราชย์แล้ว  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนพิณบรรเลงราช” เมื่อ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๘๐ บาท แล้วเลื่อนขึ้นเป็นหุ้มแพรหลวงพิณบรรเลงราช  เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ เงินเดือน ๑๐๐ บาท  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เปลี่ยนราชทินนามเป็น “หลวงประดับดุริยกิจ” เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ และเป็นพระประดับดุริยกิจ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๙  ในปลายรัชกาลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมพิณพาทย์หลวง คือ ให้รักษาการตำแหน่งเจ้ากรมรับพระราชทานเงินเดือน ๒๐๐ บาท และได้รับตราช้างเผือกชั้นที่ ๔  

พระประดับดุริยกิจ  แต่งงานครั้งแรกกับ  นางสาววงษ์  ธิดานายกล่อม และนางเยี่ยม มีบุตรธิดาชื่อ นายเดือน  นายกุศิก  และนางสาวประดับวงษ์  ต่อมาได้ภรรยาอีกคน ชื่อ นางสาวเพี้ยน  บุตรีจีนคล้ายและนางแวว  ซึ่งเป็นคนบ้านสวนตะไคร้ จังหวัดนครปฐม  อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ มีบุตรีหนึ่งคน ชื่อ นางสาวเกษิณี และบุตรชายอีก ๓ คน คือ พลตรีสุภัทร  นายทวี  และพลตำรวจตรีเกษียณ  วีณิน  พลตรีสุภัทร เล่นดนตรีไทยได้คือ ระนาดเอก

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรีบงจาก  เอกสารทะเบียนประวัติ  กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง  และการสัมภาษณ์ พลตรีสุภัทร  วีณิน)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.