พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๔)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๔)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

(พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๔)

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรชกาลที่ ๗ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๗๔ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และองค์สุดท้อง (องค์ที่ ๑๔) ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช ทรงมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐา ร่วมพระชนกชนนีเดียวกัน ตามลำดับ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรรุตม์ธำรง  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์  สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ  และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก  โดยเฉพาะสามพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก นั้น ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการดนตรีไทย  ทรงนิพนธ์เพลงไทย และสนับสนุนนาฏศิลป์ไทยเป็นอย่างยิ่ง  

ถ้าจะนับเนื่องด้วยเชื้อสายความเป็นศิลปินเพลงไทยแล้ว  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นหลานทวดของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงเป็นหลานอาของ  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์  ทรงเป็นพระอนุชาต่างพระมารดากับสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์   กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม  ทุกพระองค์ที่ขานพระนามมานี้ ล้วนแต่ทรงมีผลงานในวงการดนตรีไทยทั้งสิ้น  

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มศึกษาภาษาไทยในโรงเรียนราชกุมาร ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แล้วจึงเสด็จไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ  เสด็จกลับมารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เสด็จเถลิงราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ เสวยราชสมบัติเป็นเวลา ๙ ปี แล้วสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗  

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับดนตรีนั้นไม่ปรากฎพระราชประวัติว่า เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงเรียนดนตรีจากครูผู้ใด  ทราบแต่ว่าโปรดที่จะฟังดนตรีมากกว่าทรงบรรเลง  จนเมื่อเถลิงราชสมบัติในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้วงพิณพาทย์หลวงเข้าไปบรรเลงเพลงถวายที่วังสุโขทัย สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง  ต่อมาได้ทรงหัดซอด้วงและซออู้โดยทรงเวลาว่างพระราชกิจพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี  พร้อมด้วยพระราชวงศ์ผู้ใกล้ชิดอีกหลายพระองค์ อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต  กรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ์  กรมหมื่นอนุวัตรจตุรนต์ และพระราชธิดาทั้ง ๕ พระองค์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต  

ครั้งหนึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงนำซออู้ขนาดเล็กขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย  โดยที่ทรงได้กระโหลกซอสวยงามมาจากอัมพวา  และให้ช่างแกะเป็นตรา ปปร. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ โปรดใช้ซอคันเล็กนี้สีเล่นเวลาทรงสำราญพระราชหฤทัย  พระราชทานซอคันนี้ว่า ” ซอตุ๋น ” ( คำว่า ตุ๋น แปลว่า เล็ก ๆ ) ด้วยซอคันนี้เองได้ทรงคิดประดิษฐ์เพลงราตรีประดับดาวขึ้น  โดยมีหลวงไพเราะเสียงซอ ( อุ่น ดูรยชีวิน ) และหลวงประดิษฐไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง ) ถวายคำแนะนำ เพลงราตรีประดับดาวเถา จึงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้พระราชนิพนธ์เพลงที่ ๒ ขึ้น คือ เพลงเขมรละออองค์เถา  และในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ อีกเพลง คือ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง ๓ ชั้น รวมทั้งหมด ๓ เพลง จากนั้นก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่นั้นมาก็ไม่มีใครได้เห็นซอประวัติศาสตร์คันนี้อีกเลย  

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดดนตรีไทยมาก  งานใดก็ตามที่มีดนตรีแล้ว มักจะเสด็จประทับฟังเพลงอยู่เป็นเวลานาน ๆ เสมอ เมื่อครั้งขึ้นตำหนักเปี่ยมสุข ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทรงจัดให้มีการแสดงแฟนซี ประกอบเพลงไทย  โดยให้มีการแต่งกายเป็นปริศนาชื่อเพลงต่าง ๆ ออกมา  แล้วให้นักดนตรีทายว่า หมายถึงเพลงชื่ออะไร  หากบรรเลงเพลงนั้นไม่ได้ หรือบรรเลงผิด วงดนตรีก็แพ้ นับเป็นการเล่นสนุกกับเพลงไทยที่น่าสนใจยิ่ง  

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ โดยมิได้ทรงหวังว่าจะต้องทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินมาก่อนเลยและเมื่อจะทรงรับตำแหน่งนั้นก็มิได้ทรงสมัครพระทัย  ขณะเดียวกับที่ทรงครองราชสมบัตินั้น  เป็นระยะเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำมากรวมทั้งมีการผันแปรทางการเมืองอย่างรุนแรง จึงทำให้ทรงมีความคับแค้นพระทัยมาก หลังจากสละราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว ได้ประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ จนสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พระชนมายุ ๔๘ พรรษา และไม่มีพระราชโอรส พระราชธิดา

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  หนังสืออนุสรณ์  งานพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๒๔ และคำบอกเล่าของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง กับ อาจารย์มนตรี  ตราโมท)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.