เบญจรงค์ (ธนโกเศศ) แฉ่งฉวี
(พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๕๖๕)
ครูเบญจรงค์ ธนโกเศศ มีนามเดิมว่า “เติม” เป็นบุตรีคนโตของ นายเตียง และนางทองอู่ ธนโกเศศ เกิดที่บ้านใกล้วัดใหม่อมตรส ตำบลบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์แรม ๑๕ คำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๖๑ มีน้องสาวร่วมบิดามารดาชื่อ เติบ ไม่เล่นดนตรี และมีน้องชายชื่อ อุดร ชำนาญในด้านปี่พาทย์ ได้เปลี่ยนชื่อจาก เติม มาเป็นเบญจรงค์ ในสมัยที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปฏิวัติวัฒนธรรมไทย
เริ่มเรียนหนังสือพออ่านออกเขียนได้ที่บ้าน แล้วเข้าเรียนต่อในโรงเรียนพร้อมวิทยามูล จบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ระหว่างที่เรียนหนังสือก็หัดสีซอด้วง ซออู้ และตีขิม เนื่องจากครูเตียงผู้เป็นบิดาเป็นครูสอนเครื่องสายที่มีชื่อเสียงมาก และคุณแม่ทองอู่ ก็เป็นนักร้องจึงคุ้นเคยกับเสียงดนตรีไทยมาแต่เล็ก และในละแวกบ้านที่อยู่นั้น ก็แวดล้อมไปด้วยศิลปินเพลงไทย อาทิ บ้านหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) บ้านครูละเมียด จิตตเสวี บ้านครูปลั่ง บ้านครูไปล่ วนเขจร ฯลฯ
ครูคนแรกที่จับมือให้เรียนซอด้วง คือ ครูไปล่ วนเขจร ซึ่งครูเบญจรงค์ เรียกว่า ” อาไปล่ ” เพราะสนิทสนมกับบิดามาก เมื่อสีซอด้วงเพลงจระเข้หางยาวได้แล้ว ก็ต่อเพลงไอยเรศ สี่บท บุหลัน ฯลฯ ครั้นเริ่มมีฝีมือดี ได้ต่อซอด้วงทางเดี่ยวจากครู ปลั่ง วนเขจร ซึ่งได้ต่อทางเดี่ยวให้ทุกเพลงถึงเดี่ยวกราวใน และได้ต่อเดี่ยวซอด้วงเพิ่มเติมพร้อมด้วยเดี่ยวซออู้เพลงแขกมอญ จากหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ในตอนหลัง
นอกจากจะเล่นเครื่องสายได้คล่องและจำเพลงแม่นแล้ว ยังได้ต่อทางร้องกับครูละม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา ครูเชื้อ นักร้อง และเรียนเพิ่มเติมจากครูท้วม ประสิทธิกุลอีกเป็นบางเพลง จึงมีความสามารถทั้งในด้านการบรรเลงและขับร้อง
ชีวิตราชการ เริ่มทำงานเป็นเสมียนกรมที่ดิน สมัยนายเสริม สาริคุปต เป็นเลขานุการกรม และได้เริ่มก่อตั้งวงเครื่องสายกรมที่ดินเป็นครั้งแรก รับราชการอยู่กรมที่ดินได้ ๘ ปี แล้วย้ายมาอยู่องค์การเชื้อเพลิง โดยนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้ชักชวนให้มาช่วยกันตั้งวงดนตรีไทยขององค์การเชื้อเพลิง ทำงานอยู่ที่นี่อีก ๒ ปี ก็ย้ายไปทำงานที่ธนาคารออมสิน เป็นเวลา ๒๐ ปีเศษ จึงเกษียณอายุ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒
ชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับ เรือเอกชิต แฉ่งฉวี ร.น. นักดนตรีเอก ศิษย์ครูเจือ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา มีบุตรีด้วยกันทั้งสิ้น ๕ คน ชื่อ กัลยา ปราณี อุสา ผกา และเบญจวรรณ
ครูเบญจรงค์ ธนโกเศศ ได้ชื่อว่าเป็นนักสีซอด้วงผู้แม่นเพลง สีซอยืนหยัดเป็นหลักของวงได้อย่างแน่วแน่มั่นคง เสียงซอดี มีรสมือ ได้เสียงชัดเจนแจ่มแจ้ง ในชีวิตเคยร่วมวงเครื่องสายกับนักดนตรีเอก ๆ มามาก เช่น ร่วมวงกับครูเจือ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ครูพุฒ นันทพล ครูประพาส สวนขวัญ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีไทยของกรมที่ดิน และองค์การเชื้อเพลิง เป็นนักดนตรีประจำวงเสริมมิตรบรรเลง เป็นเจ้าของวงดนตรีคณะบางขุนพรหมใต้ และวงมิตรบรรเลง เคยอัดเสียงเดี่ยวซอด้วง เพลงกราวใน กับห้างแผ่นเสียง ต. เง็กชวน และมีผลงานเพลงเดี่ยวต่าง ๆ หลายเดี่ยว บันทึกเสียงไว้กับ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ได้เคยช่วยครูชิต ผู้สามี ประดิษฐ์ทางขับร้องเพลงที่ครูชิตแต่งไว้หลายเพลงด้วยกัน
ในตอนปลายอายุราชการ ก่อนเกษียณอายุไม่กี่ปี ครูได้แยกทางกับสามี มาปลูกบ้านใหม่อยู่ที่ตำบลบางยี่ขัน พร้อมด้วยลูก ๆ ทั้ง ๕ คน เมื่อเกษียณอายุแล้ว วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ได้เชิญเป็นอาจารย์พิเศษ สอนเครื่องสาย
ครูเบญจรงค์เคยสอนดนตรีในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ ได้เคยต่อซอด้วงถวาย ครูเบญจรงค์มีศิษย์มากทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยนาฏศิลป
ครูเบญจรงค์ ธนโกเศศ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ สิริอายุรวม ๑๐๔ ปี
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ครูเบญจรงค์ ธนโกเศศ)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.