ขุนบำเรอจิตรจรุง (ห่อ คุปตวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๒๗-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ขุนบำเรอจิตรจรุง (ห่อ คุปตวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๒๗-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ขุนบำเรอจิตรจรุง (ห่อ คุปตวาทิน)

(พ.ศ. ๒๔๒๗-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

รองหุ้มแพร ขุนบำเรอจิตรจรุง เป็นบุตรของนายคต และนางเผื่อน คุปตวาทิน เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อยังเด็ก ได้เรียนหนังสืออยู่ ณ สำนักวัดมหรรณพาราม ออกจากโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ อายุได้ ๑๓ ปี จึงถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เข้าไปอยู่ในวังสราญรมย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๘ อายุ ๒๐ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนขั้นต้นเดือนละ ๑๕ บาท อีก ๖ ปีต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงได้เลื่อนเป็นมหาดเล็กพิเศษ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๕ บาท

ในวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับพระราชทานนามสกุล “คุปตวาทิน” และอีกสองปีต่อมา ในวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนบำเรอจิตรจรุง รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๔๐ บาท

ขุนบำเรอจิตรจรุง ทำหน้าที่เป็นพนักงานพิณพาทย์หลวง เล่นเครื่องดนตรีได้รอบวงแต่มีหน้าที่ตีฆ้องและระนาดเอกเหล็ก ทุ้มเหล็ก มีฝีมือปานกลาง

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระราชทานตรามงกุฎสยาม ชั้นที่ ๕ และปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานเสมาทองคำ จ.ป.ร. ชั้น ๔

ขุนบำเรอจิตรจรุง แต่งงานกับนางสาวจำรูญ บุตรีนายบุญและนางผึ่ง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๔๓ มีบ้านพักอยู่กับภรรยาที่สวนเจ้าเชตุ มีบุตรีเพียงคนเดียว ชื่อ ถนอม

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.