หลวงบำรุงจิตรเจริญ(ธูป สาตรวิลัย) (พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๕๐๑)

หลวงบำรุงจิตรเจริญ(ธูป สาตรวิลัย) (พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๕๐๑)

หลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตรวิลัย)

(พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๕๐๑)

 

หลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตรวิลัย) เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หัดดนตรีไทยกับบิดามาตั้งแต่เด็ก ต่อมาได้เป็นศิษย์ของพระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด ตาตะนันทน์) ซึ่งควบคุมวงปี่พาทย์ กรมมหรสพสมัยรัชกาลที่ ๕ รวมทั้งเป็นนายวงปี่พาทย์ประจำวังบ้านหม้อของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ก็ได้ทำหน้าที่ตีฆ้องวง ประจำวังบ้านหม้อมาก่อน แล้วจึงถวายตัวเป็นมหาดเล็กสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๙ (อายุได้ ๑๘ ปี) พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ใกล้ชิดกับขุนเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และได้เป็นศิษย์มาอยู่ในสังกัดมหาดเล็กเวรฤทธิ์ด้วยกันในปีนั้น ทำหน้าที่ตีฆ้องวงใหญ่และตีระนาดวงปี่พาทย์โขนหลวงตลอดมา 

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวย้ายมาสังกัดกรมมหรสพ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น ขุนบำรุงจิตรเจริญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้วได้เป็นหลวงบำรุงจิตรเจริญ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ 

หลวงบำรุง ฯ มีความสามารถในการบรรเลงปี่พาทย์โดยเฉพาะเครื่องตีทุกชนิด ทำหน้าที่สลับกันไประหว่าง ฆ้อง ระนาด บางทีก็ตีเครื่องหนังแต่ที่ชำนาญมาก คือ ฆ้องใหญ่ และระนาด สมัยรัชกาลที่ ๖ มีวงหลวงอยู่ ๖ วง คือ วงข้าหลวงเดิม (วงตามเสด็จ) มีพระไพเราะ (โสม สุวาทิต) เป็นคนระนาด บางทีก็มีหลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์) เป็นคนตีระนาดด้วย และยังมีวงพระราชพิธีอีก ๒ วง ซึ่งหลวงบำรุงจิตรเจริญทำหน้าที่อยู่กับวงพิเศษอีกวงหนึ่ง ในขณะที่อยู่ในกรมมหรสพ ได้ทำหน้าที่ครูสอนให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยด้วยความอารี แม้ตามไปเรียนกับท่านที่บ้าน ท่านก็ยินดีสอนให้ 

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ มีการดุลยภาพข้าราชการท่านได้ลาออกจากราชการ รับบำนาญเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ แต่ก็ยังสอนดนตรีอยู่ที่บ้าน จนถึง พ.ศ.๒๔๙๐ ขณะนั้นอายุได้ ๖๙ ปีแล้ว วิทยาลัยนาฎศิลป กรมศิลปากร ได้เชิญท่านกลับมาเป็นครูสอนดนตรีอีกครั้งหนึ่ง ศิษย์รุ่นนี้มี จิรัส อาจณรงค์ ศิลปี ตราโมท ฯลฯ สอนติดต่อกันมาถึง ๑๑ ปี อายุ ๘๐ ปี จึงลาออก เพราะสุขภาพไม่อำนวย 

ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ รวมอายุได้ ๘๐ ปี ได้แต่งเพลงไว้เพลงหนึ่ง คือ นกจากเถา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยครูพลัด (ภรรยา) เป็นผู้ทำทางขับร้อง

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ จิรัส อาจณรงค์ หนังสือประวัติผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลป กรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๑ และหนังสือ ดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ ๖ ประวัติเพลงนกจากเถา)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.