บาง หลวงสุนทร (พ.ศ. ๒๔๕๐-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

บาง หลวงสุนทร (พ.ศ. ๒๔๕๐-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

บาง หลวงสุนทร

(พ.ศ. ๒๔๕๐-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

นายบาง หลวงสุนทร เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ปีมะแม (พ.ศ.๒๔๕๐) ที่หมู่บ้านลาดโพธิ์ ตำบลสำโรง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรของนายครื้น และนางโดย หลวงสุนทร มีพี่ชายร่วมบิดามารดา ๑ คน ชื่อ นายรับ ซึ่งมีความสามารถทางตีระนาดได้ 

ได้รับการศึกษาจากวัดลาดโพธิ์ ตั้งแต่เด็กจนอายุครบบวชจึงได้บวชที่วัดลาดโพธิ์ ๒ พรรษา สอบนักธรรมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ เมื่อลาสิกขาแล้ว ได้สมรสกับนางสนิท ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น ๘ คน มีเพียง ๓ คนเท่านั้นที่เป็นนักดนตรีไทย คือ 

๑. นายเสนาะ หลวงสุนทร ระนาด 

๒.นายสนุ่น หลวงสุนทร ระนาด 

๓.นายนิด หลวงสุนทร ระนาดทุ้ม 

นายบาง หลวงสุนทร เริ่มเรียนดนตรีไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ เรียนกับนายครื้น ผู้เป็นบิดา โดยเรียนฆ้อง เพลงสาธุการ และเรียนเป่าปี่ไล่เสียงให้ชัดเจน จนได้ต่อเพลงทางปี่ เพลงแรกคือ เพลงโล้ นอกจากท่านบิดาแล้ว นายบางได้ศึกษาวิชาดนตรีไทยกับครูอีกหลายท่าน คือ ครูแดง พาทยกุล สอนฆ้องวงใหญ่ ครูหลวงประดิษฐไพเราะ สอนปี่ ครูเจียน มาลัยมาลย์ ครูสาลี่ มาลัยมาลย์ สอนปี่ ครูหลวงบำรุงจิตเจริญ สอนฆ้องวงใหญ่ และต่อเพลงหน้าพาทย์ทั้งหมดจนถึงเพลงองค์พระพิราพ 

เริ่มถ่ายทอดวิชาดนตรีให้แก่ผู้อื่น เมื่อมีอายุได้ ๕๐ ปี (พ.ศ.๒๕๐๐) โดยสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลป ศิษย์ที่เห็นว่ามีฝีมือได้แก่ นายสุรพล หนูจ้อย นายเสรี ชื่นจิ๋ว และนายวิเชียร อ่อนละมุน ถนัดในทางสอนปี่พาทย์ 

ออกแสดงดนตรีครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๐ ปี และแสดงฝีมือเดี่ยวครั้งแรก เมื่ออายุ ๓๐ ปีเศษ ในงานไหว้ครูบ้านหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แสดงเดี่ยวปี่เพลงแขกมอญ และเพลงพญาโศก สามารถบรรเลงประกอบการแสดงโขนละครได้ดี 

สิ่งที่ภาคภูมิใจในชีวิตการเป็นนักดนตรีคือ เคยได้รับพระราชทานแหนบทองคำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในฐานะศิลปินดนตรีไทย 

เคยเดินทางไปแสดงดนตรีไทยในต่างประเทศหลายครั้ง คือ ประเทศมาเลเซีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเยอรมัน 

นายบาง พักอยู่บ้านเลขที่ ๒๔๑/๑๘ ถนนจรัลสนิทวงศ์ ซอยศักดิ์เจริญ ตำบลท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร (พ.ศ. ๒๕๒๕)

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของนายบาง หลวงสุนทร)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่นๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.