เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๙๒–ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๙๒–ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่

(พ.ศ. ๒๔๙๒–ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ เป็นธิดาของเจ้าดวงทิพย์ ซึ่งเป็นพระอนุชาของเจ้าอินทวิชยานนท์ พระบิดาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ณ จังหวัดเชียงใหม่ 

พ.ศ. ๒๔๓๖ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงขอให้เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ มาอยู่ในพระราชวังหลวง ที่กรุงเทพ ฯ ด้วย เจ้าบัวชุมจึงได้เป็นทั้งพระญาติใกล้ชิดและพระสหายสนิทด้วย ตั้งแต่อายุเพียง ๗ ขวบ และเนื่องจากมีพรสวรรค์ในด้านดนตรีอยู่ พระราชายา ฯ จึงทรงสนับสนุนเต็มที่ โปรด ฯ ให้ครูช้อย สุนทรวาทิน และหม่อมผิว มานิตยกุล เข้ามาสอนดนตรีให้ ณ พระตำหนักในวังหลวง จนเจ้าบัวชุมมีฝีมือในทางจะเข้และเครื่องสายอื่น ๆ เช่น ซอ ดีมาก ต่อมาได้เรียนออร์แกนจากพระยาประสานศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เพิ่มเติมอีก จนสามารถบรรเลงได้ดี นอกจากได้เรียนดนตรีไทยแล้ว ยังได้มีโอกาสเรียนดนตรีสากลจากแหม่มชาวยุโรปชื่อเบลล่า ด้วย ทำให้ตำหนักที่ประทับของพระราชชายา ฯ ครึกครื้นด้วยเสียงเพลงตลอดเวลา และบ่อยครั้งที่พระราชชายาทรงจะเข้ร่วมวงกับเจ้าบัวชุมและพระญาติตลอดจนผู้ใกล้ชิด ซึ่งได้รับถ่ายทอดวิชาดนตรีจากพระราชชายา ฯ และเจ้าบัวชุมไว้หลายสิบคนร่ำลือกันว่าฝีมือในการเดี่ยวจะเข้เพลงลาวแพนของเจ้าบัวชุมนั้น ยอดเยี่ยมมาก 

เจ้าบัวชุม สมรสครั้งแรกกับเจ้าน้อยศุขเกษมไม่มีทายาทสืบสกุล เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมถึงแก่กรรมแล้ว จึงสมรสครั้งที่ ๒ กับเจ้าไชยวรเชษฐ์ (มงคลสวัสดิ์ ณ เชียงใหม่) อยู่ด้วยกันเพียง ๓ ปี ก็หย่า เจ้าบัวชุมจึงกลับมาอยู่กับพระราชชายา ฯ ที่เมืองเชียงใหม่อีก จนกระทั่งพระราชชายา ฯ สิ้นพระชนม์ จากนั้นจึงได้มาอยู่ในความดูแลของคุณทิม เจ้าวัฒนา และคุณสมพันธ์ โชตนา จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียบเรียง จากหนังสือ “ดารารัศมีรำลึก” โดยเจ้าประกายแก้ว ณ เชียงใหม่ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๑)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.