จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พ.ศ.๒๔๒๔–๒๔๘๗)

จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พ.ศ.๒๔๒๔–๒๔๘๗)

จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

(พ.ศ.๒๔๒๔–๒๔๘๗)

 

ทูนกระหม่อมบริพัตร ฯ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔ นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายชั้นสูงสุดเรียงตามพระชนมายุเป็นอันดับที่ ๓ รองจากสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

ทรงศึกษาวิชาการชั้นต้น ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรมเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนมไหสูริยสงขลา ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๘ จึงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ แล้วทรงย้ายไปเรียนวิชาการทหารบกในประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ศึกษาอยู่ราว ๖ ปีเศษ เรียนสำเร็จสอบได้คะแนนยอดเยี่ยมแล้วเสด็จกลับมารับราชการในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ พระชันษา ๒๒ ปี

ทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงเริ่มรับราชการเป็นทหารบกได้ราว ๑ ปี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปประจำกองทัพเรือ ได้ทรงแก้ไขปรับปรุงกิจการทหารเรือจนเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก และทรงอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือเป็นเวลาถึง ๑๐ ปีเต็ม จึงย้ายมาเป็นเสนาธิการทหารบก ในสมัยรัชกาลที่ ๖

ในรัชกาลที่ ๗ ทรงเป็นอภิรัฐมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับราชการนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๖ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นเวลาถึง ๓๐ ปีเต็ม ตลอดเวลา ๓ รัชกาล ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คณะรัฐบาลสมัยนั้นไม่มีความประสงค์จะให้ประทับอยู่ในประเทศไทย เพราะเกรงว่าจะทรงมีอำนาจขึ้นมาอีก จึงทูลขอวังบางขุนพรหม แล้วเชิญเสด็จให้ออกไปประทับอยู่ในต่างประเทศ ทูนกระหม่อมฯ ได้เลือกเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เป็นที่ประทับตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี จนทิวงคตใน พ.ศ. ๒๔๘๗

ในด้านดนตรี ทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลงยอดเยี่ยมของกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นคนไทยคนแรกที่แต่งเพลงไทยสากล และเป็นคนไทยคนแรกที่เรียนรู้ และแต่งเพลงโดยวิธีการเขียนเป็นโน้ตสากล โดยแยกเสียงประสานถูกต้องตามหลักสากลนิยม เราไม่สามารถทราบได้ว่าทรงเริ่มเรียนดนตรีไทยกับครูท่านใด แต่ทราบว่าทรงดนตรีไทยคือสีซอได้ตั้งแต่ยังมิได้โสกันต์ (ชันษาน้อยกว่า ๑๐ ปี) และยังสืบไม่ได้ว่าทรงเรียนโน้ตสากลจากครูผู้ใดในยุโรป

เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยใน พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้ทรงสร้างวังบางขุนพรหม และหาวงปี่พาทย์มาประจำวง เดิมทีเดียวทรงใช้วงดนตรีจากอัมพวาของตระกูลนิลวงศ์ก่อน ต่อมาจึงทรงรับวงพิณพาทย์ของ หลวงกัลยาณมิตตาวาส มาไว้ในพระอุปถัมภ์ ซึ่งต่อมาได้ประทานนามสกุลให้แก่ตระกูลนี้ว่า “พาทยโกศล” ทูนกระหม่อมทรงเรียกหลวงกัลยาณมิตตาวาสว่า “ครูทับ” แต่ไม่ทราบว่าเคยต่อเพลงจากครูทับหรือไม่

ทูนกระหม่อมบริพัตรทรงชำนาญซอสามสายมาก เคยต่อเพลงจากกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติซึ่งทรงเชี่ยวชาญซอสามสาย จนกรมหมื่นทิวากรฯ ทรงชมเชยว่าฝีพระหัตถ์ซอสามสายดีเยี่ยม ในรัชกาลที่ ๖ เคยทรงซอและต่อเพลงด้วย เจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์ เป็นครั้งคราว ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และ ๗ วังบางขุนพรหมเป็นศูนย์กลางของการประชันวงปี่พาทย์ และการแสดงดนตรี และการละเล่นต่าง ๆ เป็นประจำ

ทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงเริ่มแต่งเพลงสากลก่อนเพลงไทยแท้ โดยเริ่มต้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๗–๒๔๔๘ ณ กองทัพเรือก่อน เพลงชุดแรก ๆ มีเพลงวอลทซ์ประชุมพล วอลทซ์เมขลา มาร์ชบริพัตร วอลทซ์โนรี และเพลงจังหวะโปลก้า ชื่อ มณฑาทอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงแยกเสียงประสานเพลงไทยสำหรับบรรเลงด้วยวงโยธวาทิตทำให้แตรวงบรรเลงเพลงไทยได้ไพเราะ มีหลักการประสานเสียงดียิ่งขึ้น ได้ทรงประดิษฐ์เพลงแตรวงไว้มากมายหลายเพลง อาทิ มหาฤกษ์ มหาชัย สรรเสริญเสือป่า (บุหลันลอยเลื่อนทางแตร) สาครลั่น โหมโรงสบัดสบิ้ง ถอนสมอเถา เขมรใหญ่เถา แขกมอญบางขุนพรหมเถา ทยอยนอกเถา ทยอยเขมรเถา บุหลันชกมวยสามชั้น

เมื่อเสด็จไปประทับที่ชวาแแล้วทรงนิพนธ์เพลงสำหรับปี่พาทย์ไม้แข็งขึ้นอีกหลายเพลง อาทิ น้ำลอดใต้ทรายเถา จิ้งจกทองเถา เทวาประสิทธิ์เถา ดอกไม้ร่วงเถา โหมโรงประเสบันสามชั้น และเพลงสุดท้ายคือสุดถวิลเถา รวมแล้วมากกว่า ๗๐ เพลงที่ค้นได้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ อันเป็นปีที่ฉลองร้อยปีพระชันษา ซึ่งรัฐบาลได้เป็นผู้จัดให้มีขึ้น เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔

ทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงเสกสมรสด้วย ม.จ.ประสงค์สม ไชยยันต์ พระธิดากรมหมื่นมหิศราชหฤทัย มีพระโอรสธิดาคือ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวงศ์วิจิตร

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิฐสบสมัย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรกานต์มณี

พระธิดาทั้ง ๕ พระองค์ ทรงเล่นดนตรีไทยได้ดีทุกพระองค์ และยังทรงมีพระโอรสธิดาประสูติแต่หม่อมสมพันธ์ บริพัตร อีกสององค์ คือ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์

ในส่วนของผลงานด้านอื่น ๆ ปรากฏว่าทูนกระหม่อมฯ ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ให้สร้างโรงเรียนนายเรือ รวมทั้งสนับสนุนให้จัดตั้งกองทัพอากาศขึ้นในประเทศไทย ทรงริเริ่มงานสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค โดยจัดให้มีนางพยาบาลอนามัยสำหรับต่างจังหวัด ขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงริเริ่มบริษัทเดินเรือไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงสนับสนุนการศึกษาในต่างจังหวัด และได้ทรงเปิดโรงเรียนขึ้นในที่กันดาร เช่นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้เสด็จขึ้นไปทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง

ในด้านการนิพนธ์ ได้ทรงแปลเรื่องอิเหนา จากต้นฉบับภาษามลายูไว้ ๑ ฉบับ ทรงรอบรู้ภาษาต่างประเทศ ทั้งเยอรมัน ฝรั่งเศส ชวา มลายู อินโดนีเซีย รวมทั้งภาษาดัช จนถึงทรงอ่าน เขียน และรับสั่งได้ดี

ทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงทำคุณงามความดีไว้แก่ประเทศชาติมาก แต่ต้องประสบความยุ่งยากทางการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นอย่างยิ่ง เพราะทรงเป็นผู้กุมอำนาจการปกครองไว้มากในยุคนั้น มีหนังสือพระประวัติที่น่าสนใจศึกษาหลายเล่มที่เขียนขึ้นในงานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี พระชนมายุเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ อันเป็นปีที่พระธิดาและพระโอรสได้ช่วยกันสร้างห้องสมุดดนตรีขึ้นเป็นห้องแรกของประเทศไทย ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี และได้รวบรวมเพลงพระนิพนธ์ไว้เป็นอันมากในห้องสมุดนี้

ทูนกระหม่อมบริพัตรฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ณ เมืองบันดุง ประเทศชวา ได้ฝังพระศพไว้เป็นเวลา ๔ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้อัญเชิญกลับมา แล้วจัดงานถวายพระเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก “พระประวัติและพระจริยาวัตรสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พ.ศ. ๒๕๒๔ และ “ทูนกระหม่อมบริพัตรกับดนตรีไทย” โดยนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.