หลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๒๒-๒๕๒๑)

หลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน) (พ.ศ. ๒๔๒๒-๒๕๒๑)

หลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน)

(พ.ศ. ๒๔๒๒-๒๕๒๑)

 

หลวงบรรเลงเลิศเลอ เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๒ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ มีนามเดิมว่า กร กรวาทิน บิดาชื่อ นายหว่าง มารดาชื่อ นางแช่ม เป็นชาวสวนอยู่แถววัดบางอ้อ ธนบุรี มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่คุณหลวงยังเล็ก น้าสาวของท่านจึงเป็นผู้เลี้ยงดูมาตลอด 

สมรสกับนางสาวมูล (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นนักละคร มีบุตรธิดารวม ๔ คน เสียชีวิตแต่ยังเล็ก ๒ คน ที่เหลืออีก ๒ คน ชายชื่อ สุมน (ถึงแก่กรรม) หญิงชื่อ อัมภา เป็นนักดนตรีไทยทั้งสองคน และมีหลานเป็นนักดนตรีไทย ประจำอยู่วัดมกุฎกษัตริยาราม หลายคนสืบวิชาดนตรีไทยต่อมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ปรากฏว่ามีลูกศิษย์ที่ไม่ใช่ลูกหลานเลย 

หลวงบรรเลงเลิศเลอ เริ่มเรียนดนตรีมาตั้งแต่อายุ ๑๑ ปี กับวงปี่พาทย์วัดน้อยทองอยู่ของท่านสมภารแสง เจ้าอาวาสในขณะนั้น มีครูช้อย สุนทรวาทิน เป็นผู้สอนและควบคุมวง นอกจากนี้ก็มี พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) เป็นผู้สอนอีกท่านหนึ่ง 

ต่อมาวงดนตรีวัดน้อยทองอยู่ ได้เข้ามาถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอกของสมเด็จพระพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ) จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงมีพระราชประสงค์จะมีวงปี่พาทย์ส่วนพระองค์ จึงทรงขอวงปี่พาทย์วงนี้จากสมเด็จพระพันปีหลวง หลวงบรรเลง ฯ จึงได้เข้ามาเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่บัดนั้น พร้อมด้วยนักดนตรี ๕ ท่าน คือ 

๑. นายนาค วัฒนวาทิน ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็น หลวงพวงสำเนียงร้อย 

๒. นายเพิ่ม วัฒนวาทิน ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็น หลวงสร้อยสำเนียงสน 

๓. นายแหยม วีณิน ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็น พระประดับดุริยกิจ 

๔. นายจี่ วีณิน ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็น ขุนเพลินเพลงประเสริฐ 

๕. นายบุศย์ วีณิน ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็น ขุนเพลิดเพลงประชัน 

และในตอนนี้เองหลวงบรรเลง ฯ ได้มาเป็นลูกศิษย์ของครูแปลก ประสานศัพท์ (พระยาประสานดุริยศัพท์) ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนและควบคุมวงดนตรีนี้ 

๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ ขุนบรรเลงเลิศเลอ รับราชการในกรมมหรสพ 

พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ ชื่อ วิจิตราภรณ์ 

๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นที่ หลวงบรรเลงเลอเลิศ 

เครื่องดนตรีที่ถนัดที่สุดคือ ปี่ใน นอกจากนี้ยังสามารถบรรเลงฆ้อง และระนาดได้ดี 

ในช่วงหลังของชีวิต หลวงบรรเลง ฯ มีภรรยาอีกคนหนึ่ง ชื่อ แพ แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน 

หลวงบรรเลงเลิศเลอ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่บ้านในซอยพร้อมพรรณ อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร มีอายุได้ ๙๙ ปี

จรวยพร สุเนตรกุล 

(เรียบเรียงจาก “ประวัตินักดนตรีไทย” ของ เจริญชัย ชนไพโรจน์ หน้า ๑๔๒-๑๔๙ และสอบถามเพิ่มเติมจากทายาทนักดนตรีไทยวัดมกุฎกษัตริยาราม)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.