สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๙๐)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๙๐)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

(พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๙๐)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๒ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ เมื่อพระชันษาได้ ๕ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชบิดาก็สวรรคต จึงทรงเจริญพระชนมายุมาในพระราชอุปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเชษฐา (ต่างพระมารดา) โดยทรงมีชันษาอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราว ๑๐ ปี 

สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ทรงสืบเชื้อสายศิลปินและวิชาการมาจากบรรพบุรุษหลายพระองค์และหลายท่าน ทรงมีพระราชปรีชาสามารถในการช่างอย่างยอดเยี่ยมและลึกซึ้งทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ จนแม้แต่วิชาอักษรศาสตร์และการประพันธ์ฉันทลักษณ์ก็ทรงปฏิบัติได้ยอดเยี่ยม ถือว่าเป็นเพชรประดับมงกุฎรัชกาลที่ ๕, ๖ และ ๗ ทรงเชี่ยวชาญในงานสถาปัตยกรรม ปฏิมากรรม จิตรกรรม ดุริยศิลป์ และนาฏศิลป์รวมทั้งศิลปะการละคร ตลอดไปจนถึงการนิพนธ์บทละครทุกประเภท การจัดการแสดง การทำฉากละคร จนถึงการแต่งหน้าและท่ารำทุกกระบวนทรงรอบรู้หมดสิ้นเหลือที่จะพรรณาได้ 

ในด้านการละครและดนตรี ทรงสนพระทัยดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์สมัยยังมีพระชนมายุไม่ถึง ๑๐ พรรษา โดยทรงเริ่มเรียนดนตรีจากครูถึก ดุริยางกูร (บุตรของพระประดิษฐ์ไพเราะ ครูมีแขก) แล้วทรงเรียนกับท่านขุนเณร เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ในตอนปลาย ได้ทรงเรียนเพลงหน้าพาทย์ และเพลงเรื่องต่าง ๆ จากพระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) ซึ่งเรียนอยู่นานที่สุดและใกล้ชิดกันมากที่สุด เมื่อทรงเข้าเรียนโรงเรียนทหารมหาดเล็กทรงหัดเป่าฟลุ้ทกับครูฝรั่ง (ไม่ปรากฏนาม) รวมทั้งเรียนโน้ตสากลด้วย ปรากฏว่าทรงอ่านและเขียนโน้ตสากลได้ดีมากตั้งแต่พระชันษา ๒๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๒๘) ทรงมีส่วนร่วมในการก่อกำเนิดเพลงสรรเสริญพระบารมีตั้งแต่ต้น และบทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีปัจจุบัน ก็เป็นฝีพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ 

เข้าใจว่าเพลงไทยเพลงแรกที่ทรงพระนิพนธ์ขึ้นจะเป็นเพลงเขมรไทยโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ หลังจากนั้นก็ทรงประดิษฐ์เพลงตับสั้น ๆ ขึ้นเพื่อแสดงภาพนิ่งที่ใช้คนจริง (Tableaus Vivantes) โดยเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ และทรงเพิ่มขึ้นทีละชุดจนครบทั้ง ๘ ชุด คือ สามก๊กตอนจูล่งค้นหาเมียเล่าปี เรื่องพระเป็นเจ้า เรื่องราชาธิราชตอนสมิงพระรามหนีเมีย เรื่องนิทราชาคริตตอนแต่งงานอาบูหะซัน ตับนางซินเดอริลาตอนแต่งตัวไปงานเต้นรำ ตับเรื่องขอมดำดิน เรื่องอุณรุทตอนศุภลักษณ์อุ้มสม และเรื่องพระลอ ทรงดัดแปลงมาจากบทของเก่าที่เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เคยเล่นละครมาก่อนสมัยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จะทรงทำละคร ทรงเป็นต้นกำเนิดของการเล่นละครดึกดำบรรพ์ตามแบบละครเพลงของฝรั่ง (อุปรากร) เป็นความคิดที่ทรงดัดแปลงขึ้นจากที่เจ้าพระยาเทเวศร์ได้เห็นมาจากยุโรป (หลัง พ.ศ. ๒๔๓๕) 

นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็นต้นมา ประเทศไทยต้องรับแขกเมืองเป็นประจำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดคอนเสิร์ทแสดงในพระที่นั่ง จึงทรงประดิษฐ์บทคอนเสิร์ทขึ้นหลายชุดรวมทั้งปรับปรุงวงดนตรีไทยให้เหมาะสมกับการขับร้องบรรเลงในอาคาร จึงเกิดเป็นวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ขึ้นในยุคนี้ ส่วนเพลงตับต่าง ๆ ที่เคยใช้เป็นบทคอนเสิร์ทนั้น ได้แก่ เรื่องรามเกียรติ์ตอนนางลอย พรหมมาศ และนาคบาศ และบทละครดึกดำบรรพ์ ได้แก่ เรื่องอิเหนาตอนบวงสรวง ตัดดอกไม้ฉายกริช เรื่องเงาะป่าตอนเลือกคู่หาปลา หาเนื้อ เรื่องสังข์ศิลป์ชัยตอนตกเหว ตอนตามหา เรื่องกรุงพาณชมทวีป รามเกียรติ์ตอนสูรปนขาหึงนางสีดา เรื่องอุณรุท และมณีพิชัย เป็นต้น ทรงเป็นต้นคิดในการจัดกระบวนเพลงต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการแสดงและเข้ากับฉากในโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างแนบเนียน 

ในการจัดแสดงละครก็ดี การแสดงภาพนิ่ง (Tableaus Vivantes) ก็ดี มักจะเกิดเพลงใหม่หรือฟื้นฟูเพลงเก่าขึ้นมาเสมอ ๆ เช่น เกิดเพลงที่ทรงนิพนธ์ใหม่ เช่นเพลง “ช้าประสม” การเห่เรือแบบต่าง ๆ การใช้เพลงสรภัญญะประกอบการแสดงและบทสวด เพลงที่ขึ้นชื่อมากที่สุดคือเพลง “ตับแม่ศรีทรงเครื่อง” ตอนอิเหนาและสังคามารตาชมสวน โดยทรงคิดเครื่องเป่าประกอบเป็นเสียงนกโพระดก นกกางเขน นกกาเหว่า และเสียงไก่  สอดแทรกเข้าในบทเพลง เรียกว่า เป็นการพัฒนา Sound Effect ลงในบทเพลงไทยเป็นครั้งแรก ในด้านการขับร้องทรงส่งเสริมให้คนไทยรู้จักร้องเพลงประสานเสียงแบบฝรั่งเป็นคนแรกโดยร้องเพลงหมู่ชายหญิงเพลงเขมรไทรโยค ทรงส่งเสริมให้มีการบันทึกเสียงเพลงไทยเป็นโน้ตสากล รวมทั้งได้ทรงนิพนธ์เพลงลาไว้ด้วยเพลงหนึ่งคือ เพลงปลาทองสามชั้นจากเพลงเต่ากินผักบุ้งสองชั้นของเดิม 

ในวงการศิลปินแล้วยกย่องว่าทรงเป็นยอดศิลปินไทย เป็นปรมาจารย์และจอมปราชญ์แห่งศิลปะ ทรงเป็นยอดสถาปนิกที่มีความสามารถเหลือหลาย ทั้งที่มิได้ทรงเล่าเรียนในวิทยาลัยใดมาก่อน แต่ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองมาโดยตลอด 

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีพระอุปนิสัยประณีตละเอียดละออรอบคอบอย่างลึกซึ้ง ทรงมีความพากเพียร ขยันขันแข็ง ทรงทำงานช้า และมักจะทรงเถรตรงหรือทรงดื้อเป็นครั้งคราว ทรงมีพระจริยาวัตรอันงดงามและมั่นคงเสมอต้นเสมอปลาย ยากที่จะหาอุปนิสัยของผู้ใดเทียบเทียมได้  

สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงมีคติประจำพระทัยว่า “ถ้าทำไม่ดีไม่ทำเสียดีกว่า” และ “ต้องระวังเพราะสร้างขึ้นเพื่อความพอใจ ความเพลิดเพลินตา ไม่ใช่สร้างขึ้นเพื่อความอยากรื้อทิ้ง ทุนรอนที่เสียไปก็มิใช่จะเอาคืนมาได้ ผลที่สุดก็ต้องทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์ สำหรับความอาย” 

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงเสกสมรสครั้งแรกกับ ม.ร.ว.ปลื้ม ซึ่งเป็นพระธิดาของพระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ พระญาติทางฝ่ายพระมารดาพระบาทสมเด็จพระพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกย่องนับเป็นสะใภ้หลวง ทรงมีพระธิดาประสูติด้วยพระองค์เดียวคือ ม.จ.หญิงปลื้มจิตร (เอื้อย) จิตรพงศ์ ประสูติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ และสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ 

เมื่อ ม.ร.ว.ปลื้ม วายชนม์ลง ได้ทรงเสกสมรสใหม่ด้วยหม่อมมาลัย บุตรีพระสาครสมบัติ (เผือก เสวตามร์) มีพระโอรสประสูติสองพระองค์คือ หม่อมเจ้าชายอ้าย (สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ) และหม่อมเจ้าชายยี่ (พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๙๓) ทรงพระนามว่า ม.จ.เจริญใจ จิตรพงศ์ 

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หม่อมมาลัยได้ถึงแก่อนิจกรรม จึงเสกสมรสครั้งที่ ๓ ด้วย ม.ร.ว.โต งอนรถ ธิดาหม่อมเจ้าแดง งอนรถ มีพระโอรสธิดาประสูติด้วย ๖ พระองค์ คือ ม.จ.สาม ม.จ.ประโลมจิตร (อี่ ไชยันต์) ม.จ.ดวงจิตร (อาม) ม.จ.ยาใจ (ไส) ม.จ.เพลารถ (งั่ว) และ ม.จ.กรณิกา (ไอ) 

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาตลอด ๔ แผ่นดิน อาทิ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ อภิรัฐมนตรีอุปนายกราชบัณฑิตยสภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ ฯลฯ 

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ สิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระหทัยวาย เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา ๑๓.๐๕ น. และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพที่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก “พระประวัติและผลงานของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” สุจริต ถาวรสุข ไทยวัฒนาพานิช ๒๕๐๙ และคำให้สัมภาษณ์ของ ม.จ.ดวงจิตร จิตรพงศ์)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.