ขำ กลีบชื่น (พ.ศ. ๒๔๒๐-๒๕๐๕)

ขำ กลีบชื่น (พ.ศ. ๒๔๒๐-๒๕๐๕)

ขำ กลีบชื่น

(พ.ศ. ๒๔๒๐-๒๕๐๕)

ครูขำ กลีบชื่น เป็นบุตรของ นายชื่น และนางกลีบ เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๒ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่ตำบลอ้อมน้อย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรปราการ

เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๒ ปี ได้ติดตามนายแช่มผู้พี่ชายมาอยู่บ้านแม่ครูพิน ซึ่งเป็นครูละครที่กรุงเทพฯ มาทำหน้าที่เป็นคนกลองประจำคณะละครของแม่ครูพิน ต่อมาได้แต่งงานกับนักแสดงละครคนหนึ่งในคณะแม่ครูพิน ชื่อทองอยู่ มีบุตรธิดาด้วยกันหลายคน แต่เสียชีวิตแต่ยังเล็ก เหลือบุตรชายเพียงคนเดียวชื่อ ทองต่อ ซึ่งสืบเชื้อสายทางดนตรีต่อมา และเป็นครูสอนดนตรีไทยที่มีชื่อเสียง คือ เรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น

ครูขำ มีความชำนาญมากในการบรรเลงเครื่องหนัง รวมทั้งยังมีความชำนาญมากในการสร้างและซ่อมเครื่องหนังด้วยชื่อเสียงของครูขำเป็นที่รู้จักกันดีในวงการดนตรีไทยขณะนั้น ซึ่งครูขำได้ศึกษาวิชาเครื่องหนังนี้มากจาก ครูพลอย ซื่อต่อชาติ บ้านหลังวังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ชีวิตในช่วงแรก ๆ ของครูขำค่อนข้างลุ่ม ๆ ดอน ๆ เนื่องจากครูเป็นคนชอบดื่มสุรา แต่เมื่อบุตรชายคนเดียว คือนายทองต่อ ได้บวชแล้ว ครูขำก็งดดื่มสุราอย่างเด็ดขาด หันมาทำงานสร้างฐานะตัวเองจนเป็นปึกแผ่น มีวงปี่พาทย์เป็นของตัวเอง ได้รับการยกย่องว่า เป็นคนมีความตั้งใจแน่วแน่ สามารถเปลี่ยนชีวิตให้รุ่งเรืองขึ้นได้ มีข้อเขียนในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปณกิจศพของท่านว่า "ต้นคด ปลายตรง และมามืด ไปสว่าง"

วงปี่พาทย์ของครูขำ รับงานบรรเลงประจำอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ ตั้งแต่สมัยสมภารปอ ธัมมกถิโก จนถึงสมัยพระคุณเจ้าพระเทพคุณาธาร และยังบรรเลงประจำอยู่ที่วัดอนงคารามด้วย

ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ รวมอายุได้ ๘๕ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก หนังสือนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายขำ กลีบชื่น พ.ศ. ๒๕๐๖)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดย พูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี ...[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.