ร้อยเอก นพ ศรีเพชรดี (พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๕๒๔)

ร้อยเอก นพ ศรีเพชรดี (พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๕๒๔)

ร้อยเอก นพ ศรีเพชรดี

(พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๕๒๔)

 

ร้อยเอกนพ ศรีเพชรดี เป็นชาวเมืองนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม เกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๑ คำ เดือน ๑๒ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ บิดาชื่อเฮง เป็นชาวนา มารดาชื่อ นุ่ม ครูนพได้สมรสกับนางสาวเหรียญ นวมสาย มีบุตรชาย ๔ คน ชื่อ ณรงค์  วิรัช จิโรจน์ และคนึง ทุกคนได้รับการศึกษาได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีแต่ไม่ได้เรียนทางดนตรีไทยเลยสักคนเดียว ครูนพถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นเลือดในสมองพิการและเป็นอัมพาต เมื่อวันที่๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ 

บิดาเป็นผู้มีฝีมือทางจะเข้จนเป็นที่รู้จักกันดีในละแวกบ้าน แต่ไม่ทันจะปลูกฝังวิชาดนตรีให้ บิดาก็ถึงแก่กรรมก่อนตั้งแต่ครูนพอายุได้เพียง ๖ ปี ต่อมาอีก ๔ ปี น้าชาย คือ พันตรีหลวงประสานดุริยางค์ (สุทธิ์ ศรีชยา) เมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ในแผนกแตรวงกองดุริยางค์ทหารเรือ พาตัวไปฝากฝังให้เรียนดนตรีไทยอยู่กับจางวางทั่ว พาทยโกศล หลังจากที่เรียนดนตรีไทยตามลำดับขั้นตอนอยู่ได้ประมาณ ๖-๗ ปี ครูนพจึงได้รับหน้าที่เป็นคนฆ้องประจำวงของจางวางทั่ว 

ในระหว่างที่อยู่กับท่านจางวางทั่ว ครูนพได้มีโอกาสติดตามวงดนตรีไทยไปบรรเลง ณ วังเจ้านายหลายพระองค์ บางครั้งก็ร่วมเล่นดนตรีปี่พาทย์กับวงวังบางขุนพรหมบ้าง ครูนพเป็นคนโชคดีอีกคนหนึ่งที่สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงต่อเพลงพระนิพนธ์ประทานด้วยพระองค์เองเช่นเดียวกับนักดนตรีรุ่นก่อน ๆ อีกหลายท่าน ครูนพสามารถเล่นดนตรีไทยได้หลายเครื่องมือ แต่ที่มีฝีมือดีที่สุด ได้แก่ ฆ้องวงใหญ่ นอกจากนั้นยังได้เคยต่อทางซออู้จากนายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล จนกระทั่งสีได้ดี 

ในพ.ศ. ๒๔๗๗ ครูนพได้เข้ารับราชการเป็นทหารรักษาวังอยู่ ๒ ปี จากนั้นหลวงประสานดุริยางค์ ขอให้ย้ายไปประจำกองดุริยางค์กองทัพบก จึงได้ออกจากบ้านท่านจางวางทั่วไปอยู่กองทัพบก ได้เริ่มเรียนโน้ตสากลจากร้อยตรีชุบ ไพรีขามและเรียนรู้วิชาประสานเสียงจากหลวงประสานดุริยางค์รวมทั้งเรียนจากพันเอกชูชาติ พิทักษากร 

ในระหว่างรับราชการทหารอยู่นั้นงานสำคัญของท่านคือ ฝึกสอน ควบคุมนักดนตรีไทยในวงจุลดุริยางค์และในหมวดดนตรีไทย กองทัพบก เรียบเรียงเสียงประสานเพลงไทยตามแบบสากลสำหรับวงจุลดุริยางค์ และเขียนโน้ตแยกเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ สำหรับวงโยธวาทิตกองทัพบกด้วย ครูนพก้าวหน้าในหน้าที่ราชการเรื่อยมา จนได้รับยศสูงสุดเป็นร้อยเอกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ และเกษียณอายุในปีต่อมา (พ.ศ. ๒๕๑๖) ในระหว่างที่รับราชการอยู่นั้น ท่านได้รับพระราชทานเข็มนักดนตรีจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙  ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านปลาบปลื้มใจมากที่สุด 

แม้ว่า ครูนพ จะออกจากบ้านท่านจางวางทั่วไปตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่ก็ยังไปเล่นดนตรีให้จางวางทั่วเป็นครั้งคราว ในงานส่วนตัวก็ได้ไปสอนดนตรีที่วังคลองเตยเป็นประจำเป็นเวลาหลายปี ตลอดจนได้เล่นดนตรีในงานที่วังเสมอ ๆ จนแม้เมื่อป่วยเป็นมะเร็งแล้วก็ยังไปสอนอยู่จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต 

ตลอดชีวิตของท่าน ได้สร้างหลักฐานให้ครอบครัว นับแต่ไม่มีอะไรติดตัวเลย จนมีบ้านของตนเองและให้การศึกษาแก่บุตรทุกคนจนสำเร็จมีครอบครัวเป็นหลักฐาน ร้อยเอกนพเป็นนักดนตรีไทยที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคนหนึ่งที่ยากจะหาผู้ใดเหมือน เป็นครูที่มีทั้งวิชาดี ฝีมือดี ในส่วนตัวแล้วร้อยเอกนพ เป็นคนมีอุปนิสัยตรงต่อเวลามาก ผลงานของท่านที่ปรากฏเป็นบทเพลงที่ท่านแยกเสียงประสานได้ที่กองดุริยางค์กองทัพบกเป็นจำนวนมาก

อารดา กีระนันทน์ 

(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพร้อยเอกนพ ศรีเพชรดี, พ.ศ. ๒๕๒๔)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.