เทียม (กรานเลิศ) เซ็นพานิช (พ.ศ. ๒๔๔๙-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

เทียม (กรานเลิศ) เซ็นพานิช (พ.ศ. ๒๔๔๙-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

เทียม (กรานเลิศ) เซ็นพานิช

(พ.ศ. ๒๔๔๙-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

นางเทียม เกิดเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๔๙ บิดาชื่อเปลื้อง มารดาชื่อ ทับทิม กรานต์เลิศ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน เสียชีวิตแต่ยังเล็ก ๒ คน ที่เหลืออีก ๘ คน คือ พลเรือตรีทัด นางเทียม นางยี่โถ พลเอกเทพ นางทิพย์ นายชิต พันเอกศิริ และนางประทุม นอกจากนางเทียมแล้วไม่มีพี่น้องคนใดมีอาชีพในทางดนตรีเลย  

นายเปลื้อง ผู้บิดา เป็นนายวงพิณพาทย์อยู่ที่วัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา มีฝีมือเป็นพิเศษในการขึ้นเครื่องหนัง ได้พานางสาวเทียมมาฝากให้เรียนร้องเพลงกับคุณแม่เจริญ พาทยโกศล ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร ตั้งแต่เด็ก อายุประมาณ ๑๓-๑๔ ปี เนื่องจากเป็นคนมีใจรักทางการร้องเพลงอยู่แล้ว ประกอบกับมีเสียงดีและช่างจดจำ จึงเป็นนักร้องที่มีความสามารถดีตั้งแต่เด็ก ขยันซ้อมเพลงมาก ศิษย์รุ่นเดียวกัน ได้แก่ นายเขียน ศุขสายชล นางสว่าง คงลายทอง นางหอม สุนทรวาทิน คุญหญิง ไพฑูรย์ กิตติวรรณ นางสะอาด โปร่งน้ำใจ นางสาวเฉิด อักษรทับ เวลาไปงานต่าง ๆ มักจะเป็นต้นเสียงคู่กับแม่สว่างเสมอ  

ต่อมาได้ถวามตัวเป็นข้าหลวงเรือนนอกเป็นนักร้องประจำวงพิณพาทย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือที่เรียกกันว่า วงวังบางขุนพรหมถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ มีการประชันวงปี่พาทย์ครั้งสำคัญนางสาวเทียม ซึ่งเป็นนักร้องประจำวงวังบางขุนพรหมได้รับรางวัลชนะเลิศในด้านการขับร้อง หลังจากนั้นไม่นาน ได้สมรสกับนายทรัพย์ เซ็นพานิช คนระนาดเอกในวงเดียวกัน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการตีระนาด เมื่อคราวประชันวงด้วย เมื่อแต่งงานแล้วได้ไปอยู่ที่บ้านนายทรัพย์ที่ปากลัด พระประแดง แต่ก็ยังมาร้องเพลงให้วงพิณพาทย์ของท่านครูจางวางทั่วบ้าง ประมาณ ๒ ปี ต่อมาก็ถึงแก่กรรมด้วยโรควัณโรค นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง  

แม้ว่านางเทียมจะเป็นนักร้องเสียงดี ร้องดี ไม่มีใครสู้ในสมัยนั้น แต่เนื่องจากลักษณะนิสัยส่วนตัว ที่ชอบเก็บตัวอยู่เงียบๆ วางสีหน้าเฉยๆ ไม่ใคร่สังสรรค์กับใครประการหนึ่ง กับการที่มีอายุสั้นอีกประการหนึ่งทำให้มีคนรู้จักน้อยและไม่มีโอกาสได้ถ่ายทอดวิชาให้ศิษย์เท่าที่ควร

อารดา กีระนันทน์ 

(เรียบเรียงจาก การสัมภาษณ์นายพังพอน แตงสืบพันธุ์ โดย นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล และการสัมภาษณ์นายเขียน ศุขสายชล โดยนายเสถียร ดวงจันทิพย์)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.