เจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์ (พ.ศ. ๒๔๒๓ – ๒๕๐๓)

เจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์ (พ.ศ. ๒๔๒๓ – ๒๕๐๓)

เจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์

(พ.ศ. ๒๔๒๓ – ๒๕๐๓)

 

เจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์   เกิดในกระกูล ณ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม  พ.ศ.๒๔๒๓ ที่ตำบลสันป่าข่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นธิดาคนที่ ๙ ของเจ้าอุตตราการโกศล (เจ้าน้อยเทพวงศ์) และเจ้าแม่คำเอื้อย  

เมื่ออายุประมาณ ๑๒ ปี ได้ติดตามเจ้าจอมมารดาทิพย์เกษม มาอยู่ในวังหลวงด้วย ได้เรียนหนังสือและเรียนดนตรีไทย โดยต่อซอสามสายจาก หม่อมผิว ในพระยานรรัตน์ราชมานิตย์ (โต มานิตยกุล) และพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสามศัพท์) จนมีความสามารถช่ำชองในการบรรเลงเครื่องสายไทยทุกชนิด ที่ถนัดมากที่สุดคือซอสามสายและยังมีความสามารถพิเศษในการถ่ายรูปด้วย ได้ชื่อว่า เป็นช่างภาพอาชีพสตรีคนแรกของเมืองไทย  

เจ้าเทพกัญญา ย้ายมาอยู่ ณ ตำหนักของ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นพระญาติผู้ใหญ่หลังจากที่เจ้าจอมมารดาทิพย์เกษม ถึงแก่กรรมแล้ว ระยะนี้มีการฟื้นฟูงานดนตรีขึ้นมาก และเพราะเป็นผู้มีฝีมือดีอยู่แล้ว เจ้าเทพกัญญาจึงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยประจำตำหนักพระราชชายาฯ รวมทั้งได้สอนดนตรีถวายเจ้านายบางพระองค์ เจ้าจอมบางท่าน จนถึงข้าหลวงตามตำหนักต่างๆ ในวังอีกด้วย  

พ.ศ.๒๔๔๙ ทูลลาออกมาแต่งงานกับ ร.ต.อ.แม้น บูรณพิมพ์ ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พ.ต.ท.พระราญทุรชน แล้วย้ายตามสามีไปอยู่มณฑลอยุธยา มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน คือ 

๑. พ.ต.ต.แม้นเทพ บูรณพิมพ์  

๒. ร.ต.อ. แม่นไทย บูรณพิทพ์  

๓. ทิพย์อวล บูรณพิมพ์  

๔. นาวาอากาศเอกสมุทร์ บูรณพิมพ์  

ซึ่งบุตรธิดา ๓ คนแรก ได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  

แม้ว่าจะออกจากวัง แต่งงานและมีลูกแล้ว เจ้าเทพกัญญาก็ยังกลับเข้าไปสอนดนตรีไทยในวังสวนสุนันทาอีก ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๐ – พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านเป็นครูสอนมโหรีอยู่ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาได้นำธิดา คือ ทิพย์อวลเข้าไปถวามตัวในวังด้วยและได้เป็นนักดนตรีต่อมา ครั้งนั้นมีศิษย์มาเรียนด้วยหลายคน อาทิ คุณเฉลิม บุนนาค คุณใจ ไกรฤกษ์ คุณหญิงนิ่ง สุรพันธ์เสนีย์ คุณแสงไข คุณแสงแข คุณบุญผ่อง วิเศษพันธุ์ และคุณทิพย์อวล บูรณพิมพ์  

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าเทพกัญญา ยังเข้าไปต่อซอสามสายถวายสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่ในวังเป็นครั้งคราว ศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียงมากอีกคนหนึ่ง คือ พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี)  

ทางซอสามสายของเจ้าเทพกัญญานั้น นับว่าเป็นทางชั้นยอดโดยแท้ พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) และคุณบุญผ่อง วิเศษพันธุ์ เป็นศิษย์ที่ท่านชมเชยมากว่าฝีมือดีและรับเพลงจากท่านได้มากที่สุด  

ในบั้นปลายของชีวิต ท่านได้ติดตามบุตรีไปอยู่ต่างจังหวัด ท้ายที่สุดกลับมาอยู่ที่บ้านใกล้วัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู และถึงแก่กรรมด้วยโรคความดันโลหิตสูง ที่โรงพยาบาลวชิระ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ อายุได้ ๘๑ ปี

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล สยามรัฐรายวัน ประจำวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๔  และ ประวัติเจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์ (ณ เชียงใหม่) อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖