ทัศนีย์ ดุริยประณีต (พ.ศ.๒๔๖๘ – ๒๕๐๐)

ทัศนีย์ ดุริยประณีต (พ.ศ.๒๔๖๘ – ๒๕๐๐)

ทัศนีย์ ดุริยประณีต

(พ.ศ.๒๔๖๘ – ๒๕๐๐)

 

นางทัศนีย์ ดุริยะประณีต เป็นบุตรีคนที่ ๑๐ ของนายศุข และนางแถม ดุริยะประณีต เกิดที่บ้านถนนลำพู หลังวัดสังเวชวิศยาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๖๘ เป็นน้องของครูโชติ ครูชื้น ครูชั้น ครูสุดา และครูแช่มช้อย และเป็นพี่ของครูสุดจิตต์ กับครูสืบสุด ดุริยประณีต 

เริ่มหัดร้องเพลงไทย กับมารดาและพี่สาวจนออกงานร้องเพลงประจำวงดนตรีคณะดุริยประณีต ของบิดาได้ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ เป็นคนเสียงดีมากมีแก้วเสียงไพเราะ และมีรูปร่างหน้าตาสวยคล้ายฝรั่ง จึงมีชื่อเล่นว่า “หรั่ง” 

ต่อมาได้สมัครเข้าประกวดขับร้องเพลงไทย  อันเป็นการประกวดระดับชาติ  ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับรางวัลที่ ๒  รองจากอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน  แล้วได้เข้ารับราชการเป็น นักร้องประจำวงดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ สมัย พลโท ม.ล.ขาบ กุญชรเป็นอธิบดี ในระหว่างนี้ได้บันทีกแผ่นเสียงไว้หลายเพลง อาทิ เพลงเขมรไทรโยค เพลงสมิงทอง และเพลงสำหรับสอนขับร้องเพลงไทยอีกบางเพลงของกระทรวงศึกษาธิการ 

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้แต่งงานกับครูประสงค์ พิณพาทย์ นักระนาดเอกของกรมประชาสัมพันธ์ พอเริ่มตั้งครรภ์ก็มีอาการโรคหัวใจแทรกซ้อนรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนไม่สามารถร้องเพลงได้ หลังจากคลอดบุตรได้ประมาณ ๓ เดือน ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๐๐ อายุได้ ๓๒ ปีเต็ม 

ครูทัศนีย์มีบุตรชายคนเดียวเกิดกับครูประสงค์ คือ นายทัศนัย ดุริยประณีต นักระนาดเอกคนสำคัญของคณะดุริยประณีต ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๒๖)

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ ครูแช่มช้อย และครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.