ทองดี สุจริตกุล (พ.ศ.๒๔๕๕-๒๕๕๐)

ทองดี สุจริตกุล (พ.ศ.๒๔๕๕-๒๕๕๐)

ทองดี สุจริตกุล

(พ.ศ.๒๔๕๕-๒๕๕๐)

 

ครูทองดี สุจริตกุล เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี บิดาชื่อ บุญชัย มารดาชื่อ เก็บ มีอาชีพ ทำสวน กำพร้ามารดา ตั้งแต่อายุได้ ๙ ปี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันหลายคน ชื่อ ทองใบ ทองอยู่ และกิมเช็ง ไม่มีใครเป็นนักดนตรี 

เมื่อมารดาถึงแก่กรรมแล้ว ครูทองดีได้เข้ามาอยู่ในอุปถัมภ์ของพระสุจริตสุดา พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๑๐ ปี จึงได้หัดเครื่องสายมาพร้อม ๆ กับนักดนตรีหญิงของพระสุจริตสุดา อาทิ ประคอง พุ่มทองสุก (นิภา อภัยวงค์) ทองสุก สุทธิพิณฑุ  แนบ เนตรานนท์  สุมิตรา สิงหลกะ (สุมิตรา สุจริตกุล) ลมหวล สุจริตกุล อำไพ สุจริตกุล ฉลวย รัตนจันทร์ (ฉลวย จิยะจันทน์) โดยเริ่มทำหน้าที่เป็นผู้ตีโทนรำมะนา ประจำวงเครื่องสาย ต่อมาได้เป็นผู้เล่นจะเข้ ประจำวง โดยมีครูชุ่ม กมลวาทิน  พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) และพระประณีตวรศัพท์ (เขียน จักรวาทิน) เป็นครูผู้ฝึกสอน นับเป็นนักดนตรีของวงเครื่องสาย คณะนารีศรีสุมิตรมาแต่ดั้งเดิม 

นอกจากจะเรียนดนตรีแล้ว ยังมีฝีมือในการเย็บปักถักร้อย และฝีมือในการจัดดอกไม้สด ดอกไม้ประดับต่าง ๆ เคยเดี่ยวจะเข้ถวายหน้าพระที่นั่งและเคยอัดแผ่นเสียงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคณะนารีศรีสุมิตร 

ครูทองดี สมรสกับ นายเอนก สุจริตกุล ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องชั้นเดียวกันกับพระสุจริตสุดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ มีบุตรเพียงคนเดียวชื่อ สุดาวดี เรียนอยู่ที่วิทยาลัยนาฎศิลป 

พ.ศ. ๒๔๙๘ เริ่มเป็นครูสอนในวิทยาลัยนาฎศิลป กรมศิลปากร ทำหน้าที่สอนจะเข้ และได้ร่วมมือกับครูประสิทธิ์ ถาวร ควบคุมฝึกซ้อมนักเรียนวิทยาลัยนาฎศิลป จัดแสดงมหาดุริยางค์ไทย ประสบผลสำเร็จอย่างดี 

ครูทองดี สุจริตกุล ถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ รวมอายุได้ ๙๕ ปี

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ครูทองดี สุจริตกุล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.