แก้ว โกมลวาทิน (พ.ศ.๒๔๔๗-๒๕๑๐)

แก้ว โกมลวาทิน (พ.ศ.๒๔๔๗-๒๕๑๐)

แก้ว โกมลวาทิน

(พ.ศ.๒๔๔๗-๒๕๑๐)

 

นายแก้ว โกมลวาทิน เป็นบุตรนายไข่ และนางชม โกมลวาทิน เกิดเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ตำบลบางกะสัhน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดามารดามีอาชีพทำนา นับเป็นหลานน้าของหลวงศรีวาทิต (อ่อน โกมลวาทิน) 

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ อายุได้ ๑๐ ปี บิดาได้นำมาสมัครเป็นนักเรียนพรานหลวง ฝึกอบรมการดนตรีไทยและสากล ได้รับพระราชทานเงินเดือนขั้นต้นเดือนละ ๖ บาท เป็นนักเรียนพรานหลวงรุ่นเล็กชั้นเดียวกับ นายเพ็ญ ปัญญาพล นายเชื่อง สุนทรวาทิน และนายหยัด วรวาทิน หากเข้ากลุ่มครบหมด ๔ คนแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มนักเรียนที่ซุกซนที่สุดในยุคนั้น 

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้อุปสมบทที่วัดเชิงท่าแล้วเข้ารับราชการเป็นทหารราบอยู่ ๑ ปี จากนั้นได้กลับมารับราชการอยู่ในกรมมหรสพ จนย้ายมาสังกัดกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ แต่งงานมีภรรยาชื่อฉอ้อน 

นายแก้วมีฝีมือในการเป่าปี่และขลุ่ย แต่ไม่ถนัดในการบรรเลงปี่พาทย์และฆ้อง โดยปกติจะทำหน้าที่เป็นคนตีฉิ่งประจำวงปี่พาทย์หลวงได้รับราชการในกรมศิลปากรต่อมาจนเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ แล้วกลับไปอยู่บ้านที่ตำบลวัดอรุณราชวราราม ถึงแก่กรรมเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ ด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ ของกรมศิลปากร)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดย พูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.