ท้วม ประสิทธิกุล (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๓๔)

ท้วม ประสิทธิกุล (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๓๔)

ท้วม ประสิทธิกุล

(พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๓๔)

 

ครูท้วม ประสิทธิกุล เกิดที่จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ ปี วอก พ.ศ. ๒๔๓๙ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาชื่อ สุทธิ์ มารดาชื่อ เทียบ ไม่มีนามสกุลเดิม เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คนไทยยังไม่มีนามสกุลใช้กัน จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระราชบัญญัตินามสกุล และในครั้งนั้น บิดาของครูท้วมเห็นว่า ถึงจะมีนามสกุลใช้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะลูกทุกคนเป็นหญิง 

ครูท้วม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งสิ้น ๑๐ คน รวมทั้งตัวครูด้วย คนโต ชื่อ ถม เป็นนักร้องเสียงเพราะมาก ต่อมาสมรสกับนายหวาด บัวทั่ง พี่ชายคนโตของครูเฉลิม บัวทั่ง ครูเป็นบุตรีคนที่ ๓ มีน้องสาวเป็นนักร้องเอก  อีกคนหนึ่ง คือ  ครูอุษา  สุคันธมาลัย  เจ้าของสมญา “แม่ทับ เสียงทอง” นักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พี่น้องของครูนอกจากนี้ไม่มีใครเป็นนักร้องหรือนักดนตรีเลย 

นายสุทธิ์ บิดาของครูนั้น เป็นนักดนตรีไทยที่มีความสามารถรอบตัว นอกจากทางเครื่องแล้วยังสามารถขับร้อง ขับเสภา และเล่นเพลงพื้นบ้านได้ดีด้วย เคยมาร่วมวงเล่นดนตรีและร้องเพลงกับเพื่อนในกรุงเทพมหานครเสมอ ๆ ครูจึงได้เริ่มเรียนขับร้องจากบิดามาตั้งแต่เล็ก แต่เป็นทางร้องที่ครูบอกว่า “ทางบ้านนอก” จนอายุราว ๑๒ ปี  บิดาจึงพามาถวายตัวกับ พระราชอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ซึ่งต่อมาเฉลิมพระนามเป็น พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งที่ตำหนักนี้ในระยะนั้น มีครูดนตรีไทยเข้ามาสอนอยู่หลายท่าน เช่น หลวงเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) พระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) ครูเหลือ  หม่อมส้มจีน  หม่อมคร้ามและคุณเฒ่าแก่จีบ  ครูท้วมอยู่ในวังนี้ประมาณ ๑ ปี ก็ถูกส่งตัวไปอยู่กับหม่อมส้มจีน ที่บ้านคลองบางหลวง เพื่อต่อเพลง ๓ ชั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องเงาะป่าขึ้น ครูท้วม ก็ได้ร่วมขับร้องเพลงในบทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วย จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต การบรรเลงและการขับร้องเลิกราไประยะหนึ่ง แต่ครูก็ยังอยู่ที่บ้านหม่อมส้มจีน จนหม่อมส้มจีนถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ครูจึงกลับไปอยู่กับบิดาที่บ้านเมืองนนท์ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครูท้วมได้ไปอยู่กับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ที่ตำหนักสวนสุนันทาอีก ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์ เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทรงขอยืมตัวครูท้วมมาช่วยงานขับร้องที่วังสวนกุหลาบระยะหนึ่งแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบรูณ์อินทราชัย ทรงมีละครในวังเพชรบรูณ์ จึงทรงขอยืมตัวครูท้วมมาประจำอยู่ที่วังเพชรบรูณ์ด้วย โดยร่วมงานกับ ครูลมุล ยมะคุปต์ และครูเฉลย ศุขวณิช และที่วังเพชรบรูณ์นี้ ครูก็ได้เป็นศิษย์หม่อมมาลัย นักร้องเสียงเยี่ยมซึ่งเคยอยู่ในวังของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์มาก่อน หม่อมมาลัยต่อเพลงทางร้องให้ครูท้วมอย่างละเอียดลออ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ประกาศนียบัตรการเรียนขับร้องที่ครูท้วมได้รับจากหม่อมมาลัย ก็คือคำพูดของหม่อมมาลัยที่บอกกับครูว่า “ฉันเห็นจะตายได้แล้ว มีแม่ท้วมร้องเพลงได้เหมือนใจแล้ว” หลังจากนั้น ไม่นานหม่อมมาลัยก็ถึงแก่กรรม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวงมโหรีหญิงขึ้น ครูก็ได้เข้ารับราชการเป็นคนขับร้องประจำวงมโหรีหลวง มีหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นหัวหน้าวง ในช่วงระยะเวลานี้เป็นระยะที่ครูร้องเพลงอัดลงจานเสียงกับบริษัทโอเดี้ยนไว้เป็นจำนวนมาก  ทั้งเพลงตับ  เพลงเภา และเพลงเกร็ดต่าง ๆ   

ครูสมรส  เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ กับนายพูล  ประสิทธิกุล   ข้าราชการในกรมอัศวราช อยู่ด้วยกันมาจนถึง พ.ศ.๒๕๑๗ นายพูลก็ถึงแก่กรรม โดยไม่มีบุตรด้วยกันเลย

ครูได้ย้ายไปอยู่กรมศิลปากร เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว และเมื่อหลวงวิจิตรวาทการเปิดโรงเรียนนาฏดุริยางค์ ก็ได้มาเป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียนนี้ จนกลายเป็นวิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน ตำแหน่งครั้งหลังสุดของครู คือ “ผู้เชี่ยวชาญการขับร้องเพลงไทย” ดังนั้น ลูกศิษย์ของครูจึงเรียกได้ว่ามีอยู่ทั่วประเทศไทย

ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ท่านมีอายุ ๘๖ ปี ยังมีสุขภาพดี และเมื่อพฤศจิกายน ท่านได้รับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณ ในฐานะศิลปินอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญการขับร้องเพลงไทย จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการเลือกสรรนำความปลาบปลื้มมาสู่ท่านเป็นอันมาก ครูท้วม ประสิทธิกุล ได้รับเลือกจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ ได้รับพระราชทานโล่ห์และเข็มเชิดชูเกียรติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๐ 

ครูท้วม ประสิทธิกุล ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวายอันเนื่องมาจากความชราภาพ เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ขณะเมื่อมีอายุ ๙๕ ปีเศษ

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตกุล สยามรัฐรายวัน ประจำวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๕ คำให้สัมภาษณ์ของครูท้วม ประสิทธิกุล และเอกสารทะเบียนประวัติจากกรมศิลปากร)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.