ทรัพย์ เซ็นพานิช (พ.ศ. ๒๔๔๘-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ทรัพย์ เซ็นพานิช (พ.ศ. ๒๔๔๘-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ทรัพย์ เซ็นพานิช

(พ.ศ. ๒๔๔๘-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

นายทรัพย์  เซ็นพานิช ได้ชื่อว่าเป็นคนตีระนาดที่มีฝีมือจัดมากจนเป็นที่เกรงขามกันในหมู่นักดนตรีที่จะมาประชันฝีมือ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ครูทรัพย์เกิดเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๘ บิดาชื่อ แจ่ม เป็นมุสลิม มีอาชีพเป็นลิเกตัวนางที่มีชื่อเสียง อยู่ที่วิกหลวงสวรรค์ สะพานเหล็ก มารดามีเชื้อสายมอญ อยู่ที่ปากลัด พระประแดง 

เมื่ออายุได้ประมาณ ๘-๙ ปี บิดาได้พานายทรัพย์มาฝากฝังให้เรียนดนตรีอยู่กับท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตรโดยท่านครูจางวางทั่ว เป็นผู้ต่อให้เองโดยตลอดนับตั้งแต่ฆ้องวงใหญ่ จนถึงระนาด จนกระทั่งมีความสามารถตีได้รอบวง ดังนั้นเมื่ออายุเพียง ๑๐ ปี ก็สามารถเดี่ยวระนาดได้หลายเพลง เช่น เพลงแขกมอญ สารถี เป็นต้น  

นายทรัพย์ เป็นคนหน้าตาคมคาย กิริยา มารยาทเรียบร้อย รูปร่างเล็ก ผอม ได้ชื่อว่าตีระนาดไว เนื่องจากเป็นคนฉลาด หัวไว ฝีมือดีจึงจัดอยู่ในอันดับศิษย์คนโปรดคนหนึ่งของท่านครูจางวาง ว่าโดยฝีมือและความรู้แล้ว นายทรัพย์ ได้เพลงมาก โดยเฉพาะเพลงเสภา แนวกลอนดีและการขึ้นลงสวมร้อง ก็ทำได้ดีจนเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่ศิษย์คนอื่น ๆ เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ได้เป็นคนระนาดของวงวังบางขุนพรหม ของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต 

ครูเตือน  พาทยกุล ซึ่งเรียนดนตรีอยู่ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตรในระยะเดียวกันกับนายทรัพย์ เล่าให้ฟังว่า ครูช่อ สุนทรวาทิน ซึ่งมีความรู้ทางดนตรีดีมากคนหนึ่งในสำนักดนตรีของท่านครูจางวางทั่ว ไม่กล้าลองฆ้องเพลงดี ๆ เพราะแม้แต่ได้ฟังเพียงครั้งเดียว นายทรัพย์ก็จำได้หมดและครูช่อกับนายทรัพย์ก็คงจะไม่ค่อยลงรอยกันนัก ครั้งหนึ่งในงานที่วังบางขุนพรหม เมื่อถึงเวลาบรรเลงปี่พาทย์เพลงเชิด ซึ่งใช้ส่งพระหลังจากฉันเพลแล้ว ครูช่อตีฆ้องวงใหญ่ ตีพลิกแพลงจนจับทำนองหลักและจังหวะไม่ถูก เรียกว่า ตีไม่ให้ระนาดอาศัยเลย นายทรัพย์เป็นคนระนาด ก็ตีไปได้เรื่อย ๆ จนตลอดรอดฝั่งโดยไม่ผิดแสดงถึงความสามารถเป็นยอด พอจบเพลงแล้ว ท่านครูจางวางเข้าไปกระซิบเป็นเชิงตำหนิครูช่อว่า “ตีอย่างนี้ระนาดก็ตายน่ะซี”  

ฝีมือการตีระนาดของนายทรัพย์นั้นเป็นที่เลื่องลือกันมากในหมู่นักดนตรีในสมัยรัชกาลที่ ๖ จนไม่มีใครขันสู้ ครูเตือนเล่าว่า แม้แต่ขุนชาญเชิงระนาดยังเกรงฝีมือ และเล่าถึงเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งว่า ในงานเผาศพบิดาของนายเพิ่ม ที่วัดสามปลื้ม มีปี่พาทย์ไปช่วยงาน ๓ วง คือวงปี่พาทย์นางหงส์ ของจางวางศร (หลวงประดิษฐไพเราะ) วงเครื่องสายปี่ชวา ของท่านครูจางวางทั่ว แต่ได้เปลี่ยนให้เป็นวงปี่พาทย์ และวงปี่พาทย์นางหงส์ของนักดนตรีผสมจากวงต่าง ๆ การบรรเลงในวันนั้นจึงดูเป็นการประชันวงอยู่ในที คืนนั้นนายทรัพย์ตีระนาดอยู่ตลอดคืน ระหว่างนั้นคนพิณพาทย์ในวงอื่นลุกหายไปทีละคนสองคนจนหมดเหลือแต่เครื่องวางไว้ พอใกล้สว่าง นายทรัพย์เดี่ยวเพลงกราวใน และวงของท่านจางวางทั่วจึงได้ทำเพลงพระฉันเช้า เพราะเหลืออยู่เพียงวงเดียว 

นายทรัพย์ สมรสกับนางสาวเทียม  กรานต์เลิศ นักร้องเสียงดีประจำวงท่านครูวางจางทั่ว และวงวังบางขุนพรหม หลังจากนั้นนายทรัพย์ก็ย้ายไปอยู่บ้านที่ปากลัด แต่ก็ยังมาช่วยงานท่านครูจางวางทั่วบ้าง หลังจากสมรสแล้วประมาณ ๒ ปี ยังไม่ทันจะมีบุตร นายทรัพย์ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรควัณโรคทั้งที่อายุยังน้อย (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒) ฝีมือและความรู้ของนายทรัพย์จึงสูญไปตามตัวโดยยังมิทันได้ถ่ายทอดให้แก่ผู้ใดเลย

อารดา กีระนันท์ 

(เรียบเรียงจาก เทปคำให้สัมภาษณ์ของนายเตือน  พาทยกุล และนายพังพอน  แตงสืบพันธุ์)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่นๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.