จางวางทั่ว พาทยโกศล (พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๘๑)

จางวางทั่ว พาทยโกศล (พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๘๑)

จางวางทั่ว พาทยโกศล

(พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๘๑)

 

ในวงการดนตรีไทย  ทุกคนคงจะเคยได้ยินคำว่า “ทางของฝั่งขะโนน” หรือ “ทางของฝั่งธน ฯ” อยู่เสมอ บุคคลที่มีความสำคัญยิ่งเกี่ยวพันกับชื่อดังกล่าว คือ จางวางทั่ว พาทยโกศล ซึ่งได้รับสืบทอดวงดนตรีที่ปฏิบัติตามแนวทางเฉพาะไม่เหมือนใครมาจากต้นตระกูลนักดนตรีของท่าน 

จางวางทั่ว พาทยโกศล เกิดเมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๔ ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตรฝั่งธนบุรี เป็นบุตรของหลวงกัลยาณมิตรวาส (ทับ) เจ้ากรมวัดกัลยาณมิตร กับนางแสง (ชูสัตย์) ท่านเกิดในตระกูลนักดนตรีที่มีชื่อเสียงและสืบทอดกันมาหลายชั่วคน  

จางวางทั่ว มีบุตรชายหญิงกับนายปลั่ง (คงศรีวิไล) ซึ่งมาจากตระกูลนักดนตรีเช่นกัน มีบุตรจำนวน ๘ คน แต่มีชีวิตรอดมาจนโตเพียง ๒ คน คือ นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล และคุณหญิงไพฑูรย์  กิตติวรรณ เป็นนักดนตรีฝีมือดีทั้งคู่ ส่วนบุตรชายหญิงที่เกิดแต่นางเจริญ (รุ่งเจริญ) นักร้องชั้นเยี่ยมนั้น เสียชีวิตทั้งหมดตั้งแต่ยังเยาว์ จางวางทัวใช้ชีวิตอย่างนักดนตรีมาตลอด จนกระทั่งสิ้นชีวิตลงเนื่องมาจากโรคเบาหวาน เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑  

ทั้งบิดาและมารดาของครูจางวางทั่ว เป็นนักดนตรีฝีมือดีในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านจึงได้ฝึกฝนถ่ายทอดวิชาดนตรีจากบิดามารดาและปู่ที่ชื่อว่าทองดี มาตั้งแต่ยังเยาว์ ต่อมาได้เรียนเพิ่มเติมจากครูรอด จนกระทั่งเป็นผู้มีฝีมือทางฆ้องวงเป็นพิเศษ นอกจากนั้นแล้ว ยังได้เรียนดนตรีจากครูอื่น ๆ อีก คือ ครูต่วน ครูทั่ง ครูช้อย สุนทรวาทิน และพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) อีกทั้งเรียนวิธีประสานเสียงแบบสากลจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ บริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตด้วย 

ท่านได้อุปสมทบที่วัดอรุณราชวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) เป็นพระอุปัชฌาย์  

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ครูจางวางทั่วรับหน้าที่ควบคุมวงปี่พาทย์ของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และต่อมาควบคุมวงปี่พาทย์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือที่เรียกว่า “วงปี่พาทย์วังบางขุนพรหม” ซึ่งจัดได้ว่าเป็นวงที่มีชื่อเสียงดีเด่นมากในระยะนั้น ท่านได้รับตำแหน่งจางวาง ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ พระพี่นางของสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ลูกศิษย์ของท่านจึงมักออกชื่อท่านครูจางวางทั่ว หรือ ครูจางวาง   

ครูจางวางทั่ว เป็นผู้มีฝีมือดีในสมัยนั้นจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้บรรเลงคนหนึ่งในจำนวน ๘ คน ของวงปี่พาทย์ที่บรรเลงถวายตัวแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่า วงปี่พาทย์ฤาษี ในการแสดงฝีมือหน้าพระที่นั่ง คุณครูจางวางทั่วชนะเลิศทางฆ้องเล็ก ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิเงิน ยังคงความปลาบปลื้มให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก 

ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือ ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือและเป็นเสนาธิการกองทัพบกในเวลาต่อมาพระองค์จึงโปรดให้ครูจางวางทั่วไปสอนเพลงในกองแตรวงทหารเรือ และกองแตรวงทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๕ งานในหน้าที่ดังกล่าว ครูจางวางทั่วก็ปฏิบัติได้ผลดียิ่ง 

นอกจากงานราชการแล้ว ครูจางวางทั่ว ยังได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีทุกชนิด ตลอดจนการขับร้องให้แก่ศิษย์ที่มาฝากตัวที่สำนักของท่านมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งจากในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด เล่ากันว่าในเดือนหนึ่ง ๆ ต้องหุงข้าวเลี้ยงลูกศิษย์ถึง ๗ กระสอบ ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงมี อาทิเช่น นายช่อ สุนทรวาทิน นายฉัตร  สุนทรวาทิน นายแมว พาทยโกศล นายเทวาประสิทธิ์  พาทยโกศล นายแถม  คงศรีวิไล นายปุ่น คงศรีวิไล นายทรัพย์ เซ็นพานิช นายเตือน พาทยกุล นายยรรยงค์  โปร่งน้ำใจ ร้อยเอกนพ  ศรีเพชรดี พันตรีหลวงประสานดุริยางค์ (สุทธิ์ ศรีชยา) ฯลฯ 

โดยอุปนิสัยส่วนตัวแล้ว ท่านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่พิถีพิถัน แต่กลับเอาใจใส่เคร่งครัดในเรื่องแบบแผนการสอนวิชาดนตรี ท่านมีหูรับฟังเสียงที่ละเอียดอ่อนมากสมเป็นครูสอนดนตรี เพราะใครตีผิดนิดผิดหน่อยแม้จะอยู่ในระยะไกลท่านก็ยังได้ยิน ท่านใจเย็นรักศิษย์เสมอต้นเสมอปลายโดยทั่วหน้ากัน  

ในปลายรัชกาลที่ ๖ และระหว่างรัชกาลที่ ๗ นั้น ครูจางวาง ได้นำวงปี่พาทย์ของท่านอัดแผ่นเสียงมากมายหลายสิบแผ่น โดยได้รับพระกรุณาจากทูนกระหม่อมบริพัตร ฯ ให้ใช้ชื่อวงว่า “วงพิณพาทย์วังบางขุนพรหม” นับเป็นการฝากฝีมือและผลงานไว้ให้รุ่นลูกหลานได้ชื่นชมมิใช่น้อย 

ครูจางวาง เป็นนายวงปี่พาทย์ที่โชคดี เพราะนอกจากท่านจะมีความสามารถส่วนตัวยอดเยี่ยมแล้ว ท่านยังได้นางเจริญหรือที่เรียกกันติดปากว่าหม่อมเจริญ มาร่วมชีวิตด้วย จึงได้กำลังสำคัญสำหรับวงดนตรีของท่านตลอดมาเป็นเวลาสี่สิบปีเศษ นับตั้งแต่เป็นคนร้อง ช่วยคุมวง ช่วยสอนเพลงร้องแก่ศิษย์ ตลอดจนทำทางร้องสำหรับเพลงที่แต่งใหม่อยู่เสมอ 

นอกเหนือจากความสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีทุกชนิด  ทั้งปี่พาทย์และเครื่องสายตลอดจนการขับร้องแล้ว ครูจางวางทั่วยังมีความสามารถในการแต่งเพลงได้ดีเยี่ยมทั้งทางร้องและทางเครื่องจนถึงทางเดี่ยวสำหรับเครื่องดนตรีบางอย่างอีกด้วย เพลงที่ท่านแต่งไว้มีมากหลายสิบเพลง เช่น 

ประเภทเพลงตับ  เช่น ชุดแขกไทร ตับนกสีชมพู  

ประเภททางเดี่ยว เช่น อาเฮีย (ทุกเครื่องมือ) ทะเยเถา (ทุกเครื่องมือ) พญาโศก ลาวแพน  

ประเภทเพลงเถา เช่น หกบทเถา แปดบทเถา แขกสาหร่ายเถา บังใบเถา เขมรใหญ่เถา หงส์ทองเถา ตะลุ่มโปงเถา พม่าเถา เป็นต้น  

นอกเหนือจากนี้แล้วท่านยังได้ทำทางบรรเลงสำหรับวงโยธวาทิตของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจไว้อีกมาก  

แม้ว่า ครูจางวางจะจากไปนานหลายสิบปีแล้วแต่ชื่อเสียงของ “ทางฝั่งขะโน้น” และวง “ฝั่งขะโน้น” ยังเป็นที่รู้จักกันดีจนบัดนี้ ลักษณะการบรรเลงของวงนี้ ที่ขึ้นชื่อก็คือ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยพร้อมเพรียงตามหน้าที่ของผู้บรรเลงแต่ละเรื่อง ไม่โลดโผน ไม่ลักลั่นกัน และเป็นทางที่ไพเราะแปลกกว่าวงอื่น ๆ

อารดา กีระนันนท์ 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์  พูนพิศ อมาตยกุล และคำบอกเล่าเพิ่มเติมจากผู้เป็นศิษย์ของ ครูจางวางทั่ว พาทยโกศล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.