เตือน พาทยกุล (พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๕๔๖)

เตือน พาทยกุล (พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๕๔๖)

เตือน พาทยกุล

(พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๕๔๖)

 

ครูเตือน พาทยกุล เกิดที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันเสาร์เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นบุตรนายพร้อม กับนางตุ่น บิดาเป็นช่างทำทองและเป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีด้วย ครูเตือนมีน้องสาวคนเดียวชื่อเติม แต่ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก 

ครูเตือนสมรสกับนางกิมไล้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ และกับนางเรืองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ มีบุตรชายหญิงทั้งสิ้น ๘ คน คือ นางบุหงา กลิ่นหอม นางบุญรวม เถาปฐม นายอรุณ พาทยกุล นางบุญรัตน์ รูปเทวินทร์ นางพิมผกา สุทธิวงศ์ นายจำลอง พาทยกุล นางวิไลวรรณ พันธุวงศ์ และนายบำรุง พาทยกุล ในบรรดาบุตรชายหญิงทั้ง ๘ คนนี้ มีเพียง ๒ คน เท่านั้นที่มีความสามารถทางดนตรีเจริญรอยตามครูเตือน คือนายอรุณและนายบำรุง  

ครูเตือนเริ่มเรียนดนตรีกับบิดาและปู่ (ชื่อแดง) ตั้งแต่อายุประมาณ ๗ ปี โดนหัดตีฆ้องวงใหญ่และต่อมาตีระนาด หลังจากที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดโพธาราม จังหวัดเพชรบุรีแล้ว ขณะนั้นอายุประมาณ ๑๐ ปี บิดาก็พาไปฝากให้เรียนดนตรีเพิ่มเติมกับท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร ครูเตือนได้เรียนวิชาสามัญต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สามเสน ในขณะเดียวกัน ก็ได้เรียนดนตรีกับท่านครูจางวางทั่วโดยเริ่มต้นตั้งแต่เพลงทะแย เป็นลำดับไปจนถึงเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง  ครูเตือนเป็นศิษย์รุ่นราวคราวเดียวกับนายทรัพย์ เซ็นพานิช คนระนาดฝีมือดี ครูเตือนเล่าว่า ท่านครูจางวางทั่วเอาใจใส่เคี่ยวเข็ญในเรื่องการต่อเพลงและการฝึกซ้อมลูกศิษย์เป็นอันมาก เป็นต้นว่า เมื่อตีฆ้องนั้น ถ้ายังไม่ได้แม่นยำคล่องแคล่ว ก็เอาด้ายผูกข้อมือไว้กับฆ้องวงไม่ให้ลุกไปไหน และไม่ยอมให้นั่งพิงฆ้องด้วย เพื่อให้ท่านั่งสวยเป็นระเบียบ ทุกเช้าท่านครูจางวางจะปลุกลูกศิษย์ให้ลุกขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณตี ๕ เพื่อไล่ระนาด ดังนั้นเพลงที่ต่อจากท่านครูจางวางจึงจำได้แม่นยำไม่ลืมจนกระทั่งบัดนี้ 

ครูเตือนเรียนดนตรีอยู่ที่บ้านท่านครูจางวางทั่ว จนอายุประมาณ ๒๐ ปีเศษ วงปี่พาทย์บางประทุนของนายชุม ก็ได้มาตามให้ไปสอน เพราะมีเครื่องดนตรีครบแล้วแต่ยังไม่มีครู ครูเตือนไปสอนให้อยู่หลายปีและหลังจากนั้นครูเตือนก็ลาออกจากบ้านท่านครูจางวางทั่วตั้งใจจะกลับบ้าน เผอิญไปพบนายปุ่น คงศรีวิไล ศิษย์ครูเดียวกันโดยไม่คาดหมาย นายปุ่นได้ชักชวนให้ไปตั้งวงปี่พาทย์อยู่ด้วยกันที่วัดหญ้าไทร คลองอ้อม ครูเตือนไปอยู่กับนายปุ่นประมาณ ๒ ปี จนกระทั่งวงนั้นมีชื่อเสียงเป็นปึกแผ่น จึงได้ลาไปตั้งวงของตนเอง อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ และอีกหลายปีต่อมาจึงได้ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ 

นอกจากครู ๓ ท่านที่ได้เอ่ยนามมาแต่ต้นคือ ครูพร้อม ปู่แดง และท่านครูจางวางทั่วแล้วครูเตือนยังได้ไปเรียนดนตรีและต่อเพลงเพิ่มเติมจากครูอื่นๆ อีกหลายท่าน คือ ครูต้ม พาทยกุล (ปู่) พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) พระยาภูมีเสวิน นายเทวาประสิทธิ พาทยโกศล ครูช่อ สุนทรวาทิน ครูแถม สุวรรณเสวก หลวงไพะเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยะชีวิน) ครูเตือน มีความสามารถเล่นดนตรีได้รอบวง ในทางปี่พาทย์จัดว่าได้เรียนถึงระดับสูงสุดแล้ว โดยที่ถนัดทางระนาดมากที่สุด ครูเตือนได้รับมอบให้ทำพิธีไหว้ครูจากปู่แดงและเจ้ากรมจันทร์ (เจ้ากรมจันทร์เป็นคนปี่พาทย์อยู่ที่วังของเจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์และได้ไปเป่าปี่ให้วงของนายชุมเสมอ จึงได้พบกับครูเตือน) ส่วนในทางเครื่องสายนั้น สามารถเดี่ยวซอสามสายได้มากและยังมีความสามารถเป่าปี่คลาริเนตได้อีกด้วย 

นอกจากจะสอนดนตรีแก่ศิษย์ที่บ้านแล้ว ตั้งแต่ปีประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๘ ครูเตือนยังได้รับเชิญให้ไปสอนวิชาดนตรีและการขับร้องที่โรงเรียนฝึกหัดครูที่จังหวัดเพชรบุรี และต่อมาก็สอนที่สถาบันอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนวิสุทธิกษัตรี พระประแดง โรงเรียนราชประชาสมาศัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก โรงเรียนศรีอยุธยา สถาบันเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตวิทยาลัยนาฎศิลปกรมศิลปากร (วิชาประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทย) 

นอกจากความสามารถในการบรรเลงดนตรีแล้ว ครูเตือนยังแต่งเพลงไว้หลายเพลง เช่น แขกมอญบางช้าง ๒ ชั้นทางเปลี่ยน โหมโรงเทพอัศวิน โหมโรงสดุดีอัสสัมชัญ โหมโรงเพชรศรีอยุธยา นกจาก ๒ ชั้น ลาวต่อนกเถา ลาวดำเนินทรายเที่ยวกลับ เพลงสามัคคีชุมนุมทางไทย ฯลฯ 

เนื่องจากครูเตือนได้สอนลูกศิษย์ทางปี่พาทย์อย่างจริงจังเป็นเวลาหลายปี จึงมีลูกศิษย์มาก ที่มีฝีมือได้แก่ นายไว รุ่งเรือง นายเพิ่ม นายเยื่อ นายย้อย เป็นต้น และวงดนตรีของครูที่จังหวัดเพชรบุรีนั้น มีทั้งวงปี่พาทย์ แตรวง และอังกะลุง นับเป็นวงที่มีความสามารถพอตัว ครั้งหนึ่ง วงปี่พาทย์คณะนายเตือน ได้ชนะเลิศถ้วยเงิน ในการประกวดเพลงชาติไทย ที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี จนแม้อายุ ๗๐ ปีแล้ว ก็ยังเดี่ยวกราวในแสดงฝีมือได้ดีในคราวงานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ 

ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ครูเตือนมีผลงานทางดนตรีมากทั้งในส่วนฝีมือการบรรเลงของท่านเอง การแต่งเพลง การถ่ายทอดวิชาให้แก่ศิษย์ ทั้งโดยส่วนตัวและตามสถาบันต่างๆ  จนกระทั่งทุกวันนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๕) และยังได้เผยแพร่บันทึกเสียงและภาพบรรเลงไว้อีกมากจนสุดจะพรรณาได้หมด และเป็นคนมีฝีมือสามารถสร้างและซ่อมเครื่องดนตรีได้ทุกชนิด ที่มีชื่อเสียงมากคือประดิษฐ์เครื่องดนตรีขนาดย่ออย่างได้สัดส่วนลวดลายงดงาม มีขนาดเหมือนของเล่นแต่สามารถบรรเลงได้จริง ขนาดเล็กที่สุดที่ครูทำไว้นั้น วางบนฝ่ามือได้ 

ครูเตือน พาทยกุล ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ ต่อมาได้ก่อตั้ง “โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์” ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘

ครูเตือน พาทยกุล ถึงแก่กรรมด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิตเนื่องด้วยปอด เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖ สิริรวมอายุได้ ๙๘ ปี

 

อารดา กีระนันนท์ 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของครูเตือน พาทยกุล เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.