เตียง ธนโกเศศ (พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๗๘)

เตียง ธนโกเศศ (พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๗๘)

เตียง ธนโกเศศ

(พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๗๘)

 

ครูเตียง ธนโกเศศ เป็นบุตรของขุนธนโกเศศ (นามเดิมยังค้นไม่ได้) เกิดที่กรุงเทพมหานคร ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ มีพี่ชายชื่อตั้ง และน้องชายชื่อตาด ไม่เป็นดนตรีทั้ง ๒ คน 

ไม่ทราบว่าในวัยเด็กท่านเรียนดนตรีจากครูผู้ใด แต่เป็นที่เลื่องลือกันว่า “นายเตียง คนซอด้วง บ้านอยู่หน้าวังบางขุนพรหม เป็นคนสีซอฝีมือดี” ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครูเตียง ได้มีโอกาสต่อเพลงเดี่ยวเพิ่มเติมจากครูดนตรีที่มีชื่อเสียง อาทิ หลวงว่องจะเข้รับ (โต กมลวาทิน) และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หลวงประดิษฐไพเราะ ชมว่าเป็นคนสีซอด้วงฝีมือดีที่สุด จำเพลงแม่น และทางเพลงดีมาก ในกระบวนผู้ที่มาขอต่อเพลงซอทางเดี่ยวจากท่าน (ครูเตียงมีอายุน้อยกว่าหลวงประดิษฐไพเราะเพียง ๒ ปีเท่านั้น) 

ในกลุ่มนักดนตรีที่ได้รับการยกย่องว่ามีฝีมือทางเครื่องสาย ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และ ๗ นั้น ครูเตียงอยู่ในแนวหน้า เล่นดนตรีร่วมวงกับครูไปล่ ครูปลั่ง วนเขจร หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ครูอนันต์ ดูรยชีวิน ครูจ่าง แสงดาวเด่น ครูละเมียด จิตตเสวี และครูละม่อม ดูรยชีวิน  ซึ่งครูเตียงมีอายุมากที่สุด แต่ก็ชอบบรรเลงเครื่องสายด้วยกัน โดยเฉพาะการบรรเลงเครื่องสายปี่ชวาแล้วครูชอบมาก วงเครื่องสายของครูเตียงเคยได้เข้าไปบรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในวังสุโขทัย ขณะที่ทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ด้วย 

ครูเตียง สนิทสนมกับครูศุข ดุริยประณีต เนื่องจากมีบ้านอยู่ไม่ไกลมาก เวลาบ้านดุริยะประณีตรับงานเครื่องสาย ครูเตียงจะไปร่วมบรรเลงด้วยเสมอ เล่ากันว่า หากเข้ากลุ่มกับบ้านดุริยประณีตแล้ว มักจะไม่ยอมกลับบ้านง่ายๆ เลิกงานดนตรีแล้ว ก็ดื่มเหล้าและนั่งคุยเป็นประจำจนดึก 

ท่านมีภรรยาคนแรกชื่อ ทองอู่ เป็นนักร้องวงเครื่องสาย (ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๓๙ ปี) มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คนโตชื่อเบญจรงค์ (เดิมชื่อเติม) คนที่ ๒ ชื่อเติบ และคนสุดท้องชื่อ อุดร ทุกคนเป็นนักดนตรี ภรรยาคนที่ ๒ ชื่อสาย มีบุตรด้วยกัน ๔ คน ไม่มีใครเป็นนักดนตรี และภรรยาคนที่ ๓ ชื่อ แดง ไม่มีบุตรด้วยกัน 

ครูเบญจรงค์เล่าว่า ครูเตียงเป็นคนดุมากเวลาสอนจักจะตีเจ็บๆ จึงสอนลูกตัวเองไม่ได้ เพราะบอกว่ากลัวจะตีลูกเจ็บ ส่วนศิษย์เครื่องสายของท่านนั้น มีอาทิ ครูพุฒ นันทพล ครูเจือ เสนีย์วงศ์ ครูปริก (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นต้น นอกจากนี้ท่านเคยเป็นครูสอนเครื่องสายในวังสุโขทัย หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ท่านได้รับเลือกเป็นผู้แทนตำบลบางขุนพรหมและเป็นสมาชิกสภาเทศบาลจังหวัดพระนครด้วย 

พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านเริ่มป่วยด้วยโรคตับแข็งจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๗ อาการของโรคก็ลุกลามจนถึงมีเลือดออกจากร่างกายบ่อยๆ ในที่สุดก็ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัดริดสีดวง ยังไม่ทันหายดีท่านก็หนีกลับบ้าน แล้วมาป่วยหนักมีเลือดออกมากจนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ รวมอายุได้ ๕๒ ปี ศพของท่านตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดใหม่อมตรสมีนักดนตรีมาร่วมงานบรรเลงถึง ๑๖ คืน ติดต่อกันเฉพาะบ้านดุริยประณีตยกปี่พาทย์มอญมาบรรเลงประชันกับวงมโหรีและเครื่องสายทุกคืนจนถึงวันฌาปนกิจศพ

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของครูเบญจรงค์ ธนโกเศศ)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.