พ.จ.อ.กิ่ง พลอยเพชร (พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๕๓๒)

พ.จ.อ.กิ่ง พลอยเพชร (พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๕๓๒)

พ.จ.อ.กิ่ง พลอยเพชร

(พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๕๓๒)

 

นายกิ่ง พลอยเพชร มีนามเดิมว่า ต่อม เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ที่จังหวัดนนทบุรี บิดาชื่อ นายพัฒน์ มารดาชื่อนางศรีนวล มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน รวมทั้งตัวครูกิ่งด้วย แต่ไม่มีพี่น้องคนใดเป็นนักดนตรีเลย 

ครูกิ่งเริ่มการศึกษาวิชาสามัญชั้นต้น ที่โรงเรียนราชวิทย์และมาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่โรงเรียนนาฎดุริยางค์ (วิทยาลัยนาฎศิลปในปัจจุบันนี้) ในด้านการศึกษาวิชาดนตรีนั้นเริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่จากบิดา โดยเรียนเพลงสาธุการเป็นเพลงแรก ตามระเบียบการเรียนปี่พาทย์ และครูกิ่งเล่าว่า เพลงสาธุการที่พ่อต่อให้นั้น เป็นทางโบราณมากไม่ค่อยเหมือนใคร โดยที่ครูเป็นคนมีพรสวรรค์ในทางดนตรี เมื่อเล็ก ๆ ได้ติดตามบิดาไปในงานต่าง ๆ อยู่เสมอ จนกระทั่งได้เป็นคนตีฉิ่งประจำวิกลิเกปากเกร็ด และเมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนราชวิทย์นั้นอายุประมาณ ๙-๑๐ ปี ก็ตีฆ้องได้เป็นเรื่องเป็นราว เพลงต่าง ๆ ที่บิดาต่อให้นอกจากเพลงสาธุการแล้ว ก็มีเพลงโหมโรงเช้า โหมโรงเย็น เพลงฉิ่งพระฉัน และเพลงใบ้คลั่ง 

เมื่อบิดาเสียชีวิตลงแล้ว มารดาคือ นางสีนวล ได้นำตัวครูกิ่งมาฝากให้เป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเพราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และ ณ สถาบันแห่งนี้เองที่เป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชาการดนตรีไทยให้แก่ครูกิ่งอย่างเป็นหลักฐาน จนยึดถือเป็นอาชีพมาจนทุกวันนี้ เพลงที่เรียนจากคุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ มีมากจนสุดที่จะนับได้ถ้วนทั่ว ที่พอจะยกตัวอย่างได้ ได้แก่ เพลงเดี่ยวต่างๆ เช่น พญาโศก ลาวแพน แขกมอญ สารถี กราวใน ทยอยเดี่ยว เชิดนอก ต่อยรูป ทะแย และเพลงหน้าพาทย์เกือบทุกเพลง เช่น เสมอข้ามสมุทร บาทสกุณี พราหมณ์เข้า พราหมณ์ออก ตระเชิญ ตระนิมิตร เสมอมาร เสมอผี ดำเนินพราหมณ์ ฯลฯ ยกเว้นอยู่เพลงเพลงเดียว คือเพลงองค์พระพิราพ ซึ่งครูบอกเหตุผลให้ฟังว่าไม่ได้เพลงนี้เพราะไม่มีเงินซื้อหัวหมู สำหรับเป็นเครื่องไหว้ครูองค์พระ 

เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนาฎดุริยางค์แล้ว ก็เข้ารับราชการอยู่ในกรมศิลปากร จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ ก็ลาออกจากกรมศิลปากร แล้วไปเข้ารับราชการในกองดุริยางค์กองทัพเรือ จึงได้มีโอกาสต่อเพลงจากท่านจางวางทั่ว พาทยโกศล ซึ่งเป็นเพลงไทยแนวสากลที่ใช้อยู่ในกองดุริยางค์กองทัพเรือ ในช่วงนี้ครูกิ่งเริ่มหัดสีเชลโล่ จนในที่สุดครูก็เป็นผู้มีฝีมือในการสีเชลโล่เยี่ยมมาก 

ทางด้านเครื่องดนตรีไทยนั้น  ครูมีความสามารถบรรเลงได้รอบวง ตั้งแต่ตีฆ้องวงใหญ่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม จนกระทั่งกลองแขก ครูมีลูกศิษย์มาก นอกจากลูกศิษย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ก็ยังมีศิษย์ที่ไปขอต่อเพลงกับท่านเป็นการส่วนตัวอีก อาทิเช่น ต่อฆ้องใหญ่ให้แก่ นายสมาน น้อยนิตย์ ข้าราชการของกรมศิลปากร นอกเหนือไปจากการมีฝีมือดีในด้านเครื่องปี่พาทย์แล้ว ครูกิ่งยังมีความสามารถในด้านนาฎศิลป์ขนาดที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแสดง ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยแสดงเป็นนางเบญจกาย คู่กับนายโกมาร จันทร์เรือง ที่แสดงเป็นตัวหนุมานและในครั้งเดียวกันนี้ได้แสดงฝีมือเดี่ยวระนาดเอกเป็นที่ประทับใจชาวต่างชาติมาก 

ครูกิ่งสอนดนตรีไทยอยู่ที่ ชุมนุมดนตรีไทยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งถึงแก่กรรมในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๒ รวมอายุได้ ๗๐ ปี

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของครูกิ่ง พลอยเพ็ชร มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕ และคำบอกเล่าของนายสมาน น้อยนิตย์)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดย พูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.