หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ (พ.ศ.๒๔๑๗-๒๕๑๗)

หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ (พ.ศ.๒๔๑๗-๒๕๑๗)

หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ

(พ.ศ.๒๔๑๗-๒๕๑๗)

 

หม่อมต่วนศรี วรวรรณ เป็นชาวบางกอกใหญ่ ธนบุรี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นธิดาของม.ร.ว.ตาบ มนตรีกุล มารดาชื่อยิ้ม (สกุลเดิมศิริวันต์) 

สายราชสกุลมนตรีกุล ของหม่อมหลวงต่วนศรี เป็นสายที่มีความสามารถสูงในเชิงละครมาตั้งแต่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ผู้เป็นต้นราชสกุลนี้ หม่อมเจ้าแบน มนตรีกุล และ ม.ร.ว.ตาบ มนตรีกุล ซึ่งเป็นท่านปู่และท่านพ่อของหม่อมหลวงต่วนศรี ก็มีความรู้ความสามารถและสนใจปลูกฝังวิชาการละครตกทอดมาตามลำดับจนถึงหม่อมหลวงต่วนศรี ท่านจึงรอบรู้ทั้งในกระบวนรำและดนตรีตลอดจนการขับร้อง โดยเฉพาะจะเข้นั้นหม่อมหลวงต่วนศรีเล่นได้ดีมาก 

เมื่อท่านได้มาเป็นหม่อมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ นั้น ท่านได้เป็นศิษย์ของเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพระมารดาของเสด็จในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้าจอมมารดาเขียนก็เป็นตัวละครเอกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๔ เป็นตัวเอก (เรียกกันเป็นสมญาว่า เขียนอิเหนา เขียนสังคามารตา) จึงได้มรดกการร่ายรำและเพลงการ ตกทอดมาอีกเป็นอันมาก ความรู้ของหม่อมหลวงต่วนศรี จึงมีอุดมสมบูรณ์ในเชิงละครทุกประการ 

เมื่อเสด็จในกรมพระนราฯ ทรงตั้งคณะละครนฤมิตรขึ้น ท่านก็เป็นกำลังสำคัญในการแต่งเพลงในละครร้องทุกเรื่อง บทละครนั้น เสด็จในกรมฯ ทรงนิพนธ์อย่างรวดเร็วและท่านก็บรรจุเพลงได้อย่างรวดเร็วทันท่วงทีด้วย เรียกว่า ไวทันกันทั้งคู่ วิธีการนั้นคือ ท่านจะเป็นผู้ดีดจะเข้และร้องเพลงไปพร้อมกัน รวมทั้งคิดท่ารำตีบทให้เสร็จ ที่ขึ้นชื่อมากคือเรื่องพระลอ

ละครเรื่องแรกที่ท่านมีส่วนช่วยมากคือเรื่องอาหรับราตรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็นละครหลวงนฤมิตร จนเมื่อเกิดเป็นโรงละครปรีดาลัยขึ้น ก็เรียกละครปรีดาลัย เพลงต่างๆ ในเรื่อง สาวเครือฟ้า ตุ๊กตายอดรัก พระเจ้าสีป๊อมินทร์ ขวดแก้วเจียรนัย ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของท่านทั้งสิ้น  

ความเป็นอัจฉริยะทางดนตรีของท่านนั้นเห็นได้จากการแต่งเพลงและบรรจุเพลงลงในละครแต่ละเรื่อง เพราะปรากฏว่า ท่านแต่งเพลงเร็วมากและมีลูกเล่นยักเยื้องแพรวพราว เพลงสำเนียงลาวต่างๆ ที่ท่านนำมาบรรจุลงในละครเรื่องพระลอนั้น จริงอยู่ของเก่าก็มีอยู่บ้างแล้วเหมือนกัน แต่ท่านสามารถเปลี่ยนทำนองจนเกิดเป็นเพลงแนวใหม่ขึ้นได้อย่างฉับไว คุณสมบัติข้อนี้ จะเห็นได้จากละครเรื่องพระเจ้าสิป๊อมินทร์ อีกเรื่องหนึ่ง เพราะท่านให้กำเนิดเพลงสำเนียงพม่าขึ้นมาใหม่ มีชื่อแปลกๆ ถึงกว่า ๕๐ เพลง อาทิ พม่าพ้อ พม่าวอน พม่าพิโรธ พม่าตังคียก พม่าพรึม พม่าเหเฮ พม่าละห้อย ฯลฯ มากมายสุดจะพรรณนา 

ท่านมีอายุยืนมาก และความจำดีจนวาระสุดท้าย เมื่อท่านอายุเกิน ๙๐ ปี ยังนั่งดูละครโทรทัศน์ของกรมศิลปากรบ่อยๆ ท่านสามารถติชมวิจารณ์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะถ้าเล่นเรื่องพระลอแล้ว ท่านจะตั้งใจดูเป็นพิเศษ ถ้าเห็นผิดไปจากแนวเดิมของท่านก็แสดงความขุ่นข้องในใจทุกคราวไป ท่านมีโอรสและธิดา คือพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์และหม่อมเจ้าศิวากร วรวรรณ 

ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๗ รวมอายุได้ ๙๙ ปี ๔ เดือน

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก หนังสือ “ประวัติผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลป” ของกรมศิลปากร และคำบอกเล่าของคุณสมภพ จันทรประภา)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.