โชติ ดุริยประณีต (พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๕๑๖)

โชติ ดุริยประณีต (พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๕๑๖)

โชติ ดุริยประณีต

(พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๕๑๖)

 

นายโชติ ดุริยประณีต เกิดเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๒ ที่บ้านข้างวัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู เป็นบุตรชายคนใหญ่ของนายศุขและนางแถม สายสกุลนี้ เป็นนักดนตรีอาชีพ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ปู่ของนายโชติ มีนามว่า อิน เคยเป็นคนสอนปี่ชวา กระบี่กระบอง กลองแขก อยู่ในพระบวรมหาราชวังของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 

เมื่ออายุได้ ๔ ปี ได้เริ่มเรียนหนังสือที่วัดสามพระยา จบชั้นมัธยมปีที่ ๑ เมื่ออายุเพียง ๘ ปี แล้วเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ที่โรงเรียนวัดสังเวช ฯ ได้ถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็กกรมพิณพาทย์หลวง เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ (อายุ ๑๗ ปี) ในขณะนั้นมีความสามารถในการบรรเลงปี่พาทย์เป็นอย่างดีแล้ว เพราะได้เรียนกับบิดามาก่อน แล้วเริ่มเรียนขับร้องและปี่จากพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เรียนเครื่องหนังจากพระพาทย์บรรเลงรมย์ (เพิ่ม วาทิน) จนสามารถออกงานได้ 

พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ย้ายมาสังกัดในแผนกดุริยางค์ศิลป์ กรมศิลปากร ได้ปฏิบัติหน้าที่ในราชการด้วยดีตลอดมา จนได้เป็นหัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐-พ.ศ. ๒๕๑๐ 

เนื่องจากเป็นพี่ชายใหญ่ของครอบครัว และมีพี่สาวเพียงคนเดี่ยวกับน้องชายน้องสาวอีกถึง ๙ คน จึงเป็นหลักของครอบครัวในการปลูกฝังน้อง ๆ และลูกหลานในวิชาการดนตรี หลังจากที่นายศุขบิดาถึงแก่กรรมลงใน พ.ศ. ๒๕๐๖ แล้วท่านก็ได้ทำหน้าที่ประหนึ่งหัวหน้าครอบครัว ทั้งในด้านการปกครองและประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ รวมทั้งควบคุมวงดนตรี ดุริยประณีต อันเป็นวงอาชีพที่มีชื่อเสียงที่สุดวงหนึ่งของเมืองไทย และด้วยเหตุที่เป็นวิชาดนตรีรอบตัว คือ เล่นเครื่องดนตรีได้ทุกชนิด จนแม้แต่การขับร้อง จึงเป็นบุคคลที่มีผู้เคารพนับถือและมีศิษย์มาก ทั้งในกรมศิลปากร ที่บ้านและในต่างจังหวัด ความสามารถของท่านในการเป่าปี่และขับร้อง ยังปรากฏอยู่ในแถบบันทึกเสียงเก่า ๆ หลายชุด จนถึงทุกวันนี้ 

นายโชติรับการประสิทธิ์ประสาทวิชาดนตรีร่ำเรียนถึงหน้าพาทย์องค์พระ และได้รับมอบให้ทำหน้าที่ครอบและทำพิธีไหว้ครูให้ และยังได้แต่งเพลงไว้หลายเพลง อาทิ สุริโยทัยเถา พม่ากำชับเถา มอญบางนางเกร็ง พุ่งหอก โหมโรงศรีสังคีต กราวรำมอญเถา และเพลงตับชุดลาวแก่นท้าวกัดนิ้ว เป็นต้น 

ชีวิตครอบครัว ได้แต่งงานกับนางสาววาสนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ มีบุตรชาย ๒ คน คือ พ.อ.วิชาญ และนายชวลิต มีบุตรี ๓ คน คือ วิเชียร  ชูวงศ์ และแน่งน้อย มีชวลิตเพียงคนเดียว ที่เล่นดนตรีไทยได้ 

น้อง ๆ ของนายโชติ ดุริยประณีต ล้วนแต่มีฝีมือในการดนตรีทั้งสิ้นทุกคน ทุกคนมีความสามารถเป็นครูได้ คือ ครูชื้น ครูชั้น ครูแช่มช้อย (ภรรยาครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์) ครูเชื่อม (สุดา เขียววิจิตร) ครูชมชื่น ครูทัศนีย์ ครูสุดจิตต์ และคนสุดท้ายเป็นนักระนาดเอกฝีมือเยี่ยม ชื่อ สืบสุด (ไก่) 

นายโชติ รับราชการจนเกษียณอายุ แต่ทางกรมศิลปากรได้ยกย่องให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยของกรมศิลปากรตลอดมา จนถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖ รวมอายุได้ ๖๔ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายโชติ ดุริยประณีต คำบอกเล่าของ ครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ และคำบอกเล่าของครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.