แช่มช้อย (ดุริยประณีต) ดุริยพันธุ์ (พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๕๒๖)

แช่มช้อย (ดุริยประณีต) ดุริยพันธุ์ (พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๕๒๖)

แช่มช้อย (ดุริยประณีต) ดุริยพันธุ์

(พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๕๒๖)

 

ครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ เป็นนักร้อง และเป็นครูสอนขับร้องคนสำคัญของ กรมศิลปากร เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ที่บ้านเลขที่ ๑๐๐ ถนนลำพู หน้าวัดสังเวชวิศยาราม กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อ แช่ม ดุริยประณีต เป็นธิดาคนที่ ๓ ของครูศุข และนางแถม ดุริยประณีต 

เนื่องจากบิดามารดาเป็นนักดนตรีและนักร้อง มีวงปี่พาทย์ของตัวเองและเป็นวงที่มีชื่อเสียงมาก ครูแช่มช้อยจึงเกิดมาท่ามกลางดนตรีไทย มีพี่ชายเป็นนักดนตรีเอก ๓ คน คือ ครูโชติ ครูชื้น ครูชั้นหรือครูเหย่ มีพี่สาวเป็นนักร้อง คือ ครูสุดา เขียววิจิตร มีน้องสาวเป็นเป็นนักร้อง ๓ คน คือ นางชม หรือเขียว รุ่งเรือง นางทัศนีย์ พิณพาทย์ และครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต และยังมีน้องชายเป็นนักระนาดฝีมือเอกชื่อ สืบสุด (ไก่) ดุริยประณีต มีพี่สาวคนโตมิได้เล่นดนตรีอีก ๑ คน ชื่อชุบ 

ชีวิตในวัยเด็ก เริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมกับครูแนบ ณ โรงเรียนแนบวิทยา บางลำพู ระหว่างที่โรงเรียนปิดวันหยุด มารดาก็ต่อเพลงขับร้องให้ แต่ครูแช่มช้อยไม่ชอบต่อเพลงกับมารดาเลย มารดาจึงนำไปฝากกับพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ให้หัดขับร้องที่วังสวนกุหลาบ อันเป็นวังของสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา จึงได้สนิทสนมรักนับถือกันกับอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน มาตั้งแต่นั้น ครูแช่มช้อยเรียกอาจารย์เจริญใจว่า “พี่เริญ” ที่วังสวนกุหลาบนี้ ได้เริ่มต่อเพลงจระเข้หางยาว กับพระยาเสนาะ ฯ ต่อมาได้กลับไปเรียนหนังสือที่ โรงเรียนสตรีโชติเวช จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ เรียนขับร้องกับพระยาเสนาะ ฯ และต่อจากอาจารย์เจริญใจ มาตลอด จนอายุได้ ๑๔ ปี จึงเข้ารับราชการ เป็นพนักงานมโหรี ขับร้อง ในกรมมหรสพหลวง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ รับเงินเดือนขั้นต้น เดือนละ ๑๐ บาท เมื่อกรมมหรสพถูกยุบลงใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ย้ายมาสังกัดกรมศิลปากร ได้รับอัตราเงินเดือน เดือนละ ๑๕ บาท 

ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้รับการบรรจุเป็นศิลปินจัตวา แผนกดุริยางค์ไทย กองดุริยางค์ศิลป์ เงินเดือน ๑๘ บาท ในช่วงนี้เองได้ต่อเพลงขับร้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก มีครูหลายท่าน อาทิ พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) อาจารย์มนตรี ตราโมท และครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ได้เพลงมากทั้งเพลงตับ เพลงเถา เพลงประกอบการแสดงโขนละครได้เป็นศิลปินตรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นศิลปินโท พ.ศ. ๒๕๐๕ และเป็นศิลปินเอก พ.ศ. ๒๕๑๘ จนครบเกษียณอายุราชการ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ 

ครูแช่มช้อย แต่งงานกับครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน ทุกคนมีความสามารถในการบรรเลงดนตรีและขับร้องเรียงตามลำดับ คือ สุรางค์ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นนักร้อง) ชนะ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๑ เครื่องหนังและฆ้อง) ดวงเนตร (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๒ ซอสามสายและขับร้อง) นฤพนธ์ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๓ ฆ้อง ระนาด เครื่องหนังและขับร้อง) พจนา (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๙ เครื่องหนัง ฆ้อง) ลูกทุกคนมีชื่อเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบิดามารดา นับเป็นความภาคภูมิใจของครูเป็นอย่างยิ่ง 

ในระหว่างรับราชการอยู่กรมศิลปากร ได้เดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น ๒ ครั้ง รวมทั้งได้เคยออกไปแสดงยังเมืองเสียมราฐ พระตระบอง สมัยดินแดนนี้ยังเป็นของประเทศไทย ได้ถ่ายทอดวิชาการขับร้องให้แก่นักร้องในกรมศิลปากรหลายคน อาทิ แจ้ง คล้ายสีทอง สมชาย ทับพร ลอย รัตนทัศนีย์ สีนวล เขียววิจิตร พัฒนี พร้อมสมบัติ กัญญา โรหิตาจล สุพัชรินทร์ วิจิตรรัตนะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีศิษย์ที่มิได้สังกัดกรมศิลปากรอีก เช่น นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล นายศิริ วิชเวช และลูกหลานในตระกูลดุริยประณีต และตระกูลรุ่งเรือง 

ผลงานบันทึกแผ่นเสียงของกรมศิลปากรมีหลายเพลง เช่น เขมรไทรโยค แอ่วเคล้าซอ บุหลันลอยเลื่อน ๒ ชั้น นเรศวร์ชนช้าง ทองย่อน และแขกพราหมณ์ จากเรื่องเงาะป่า ฯลฯ และยังบันทึกเสียงเพลงเกร็ดต่าง ๆ ไว้อีกมาก คือ เพลงโอ้ลาวเถา ทยอยนอก ๓ ชั้น สาริกาชมเดือน ๓ ชั้น แขกสาหร่าย ครูแช่มช้อยเป็นผู้มีน้ำเสียงไพเราะมาก ลีลานุ่มนวล เรียบร้อย ชวนฟัง ได้ทำแผ่นเสียงชุดละครดึกดำบรรพ์ร่วมกับคณะดุริยประณีต คือ เรื่องอิเหนา ตอนตัดดอกไม้ฉายกริช และตอนบวงสรวง เรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสา ฯลฯ ไว้กับห้างแผ่นเสียงกมลสุโกศล 

ครูแช่มช้อยเลิกสอนขับร้อง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื่องด้วยสุขภาพไม่สู้แข็งแรง และป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ท้ายสุดมีอาการโรคหัวใจ จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.