ชื้น ดุริยประณีต (พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๐๗)

ชื้น ดุริยประณีต (พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๐๗)

ชื้น ดุริยประณีต

(พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๐๗)

 

นายชื้น เป็นบุตรคนที่ ๓ ของ นายศุข และนางแถม ดุริยประณีต เกิดที่บ้านหลังวัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุน เดือน ๓ ตรงกับวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ มีพี่สาว ๑ คน ชื่อ ชุบ พี่ชาย ๑ คน ชื่อ โชติ มีน้องอีก ๖ คน ล้วนแต่เป็นนักดนตรีทั้งสิ้น คือ สุดา เขียววิจิตร แช่มช้อย ดุริยพันธุ์ ทัศนีย์ ดุริยประณีต ชม (เขียว) รุ่งเรือง สุดจิตต์ ดุริยประณีต และสืบสุด ดุริยประณีต เนื่องจากครูศุขผู้บิดาเคยเป็นคนระนาดของวงบ้านหม้อมาก่อน เคยรับราชการอยู่กรมมหรสพ และมีวงดนตรีส่วนตัวด้วย ดังนั้นครูชื้น จึงคุ้นเคยกับวงปี่พาทย์มาตั้งแต่เล็ก จนอายุได้ ๑๐ ปี บิดาจึงจับมือให้หัดเพลงสาธุการ โดยให้เริ่มต้นตีฆ้องใหญ่ก่อนแล้วจึงเรียนเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม จนสามารถตีระนาดเอกได้อย่างคล่องแคล่ว และเป็นคนระนาดคนสำคัญของวงดุริยประณีตต่อมา ครูชื้นเล่าว่า เมื่อยังเป็นหนุ่มอยู่นั้น เช้า ๆ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) จะต้องมาแวะที่บ้านบางลำพูแล้วต่อเพลงให้จนสายทุกวัน ตอนบ่ายจึงข้ามเรือไปบ้านครูโน เพื่อต่อเพลงให้ครูเหนี่ยว ในระยะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพิ่งครองราชย์ได้ประมาณ ๒ ปี พระประยูรญาติผู้ใกล้ชิดโดยเฉพาะพระราชวงศ์จากวังบางขุนพรหมได้เสด็จมาทรงดนตรีพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอและทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งวงมโหรีหลวงขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระศุลีสวามิภักดิ์ จึงได้นำตัวครูชื้นขึ้นเฝ้าถวายตัวด้วย ครูจึงเป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ด้วย และได้เป็นคนระนาดเอกประจำวงหลวง นอกจากนี้ยังได้ช่วยอยู่ในวงปี่พาทย์วังบางคอแหลม ของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงลพบุรีราเมศร์อีกด้วย 

พ.ศ. ๒๔๗๓ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ทรงจัดงานฉลองพระชนมายุครบ ๔ รอบ มีการประชันพิณพาทย์ มีการนัดหมายให้แต่ละวงคิดประดิษฐ์ลีลาใหม่สำหรับเพลงบุหลันเถาเข้ามาประชันกัน ครูชื้นได้เข้าประชันด้วยเป็นที่เลืองลือว่า เป็นคนระนาดฝีมือดีมาก 

ครูชื้นรับราชการอยู่ในกรมมหรสพจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ นักดนตรีจากกรมมหรสพจึงย้ายเข้ามาสังกัดกรมศิลปากร จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ จึงได้ลาออกจากกรมศิลปากร ยึดอาชีพเป็นนักดนตรีอิสระ ช่วยปรับวงดนตรีไทยให้เกิดขึ้นใหม่ ๆ ได้หลายวง ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด อาทิ วงปี่พาทย์ของหมอผิน เพ็งพงศา แห่งจังหวัดลพบุรี และวงของครูสกล แก้วเพ็ญกาศ เป็นต้น  และได้รับเชิญไปเดี่ยวระนาดออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง กรมโฆษณาการเสมอ ฝีมือจัดมากจนถึงผู้ฟังกลุ่มหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ทำหมวกสามารถส่งมาให้ท่านถึงกรมโฆษณาการ ขณะนั้นมีอายุประมาณ ๓๐ ปีเศษ 

ครูชื้น แต่งงานครั้งแรก กับ นางสาวมณเฑียร มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คนโตเป็นคนระนาดฝีมือดี ชื่อ สมชาย รุ่นราวคราวเดียวกับนายสืบสุด น้องชายคนสุดท้อง แต่ถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่ยังหนุ่ม ต่อมาครูแต่งงานใหม่กับ นางสาวดารา นาวีเสถียร นักร้องของกรมศิลปากร มีบุตรธิดาด้วยกันหลายคน คนโตเป็นชาย ชื่อ ดนัย ปัจจุบันเป็นคนระนาดฝีมือดี นอกนั้นเป็นหญิงทั้งสิ้น 

ทางด้านผลงานเพลงนั้น ได้ร่วมกับครูโชติ ผู้เป็นพี่ชายประดิษฐ์เพลงตับราชาธิราช ตอนลาวแก่นท้าวกัดนิ้ว รวมทั้งเพลงไทยสำเนียงมอญอีกหลายเพลง เช่น เพลงดาวกระจ่างในเรื่องพระยาน้อย เพลงกระเหรี่ยงเหนือ เป็นต้น ลูกศิษย์ของท่าน นอกจากนายสืบสุด ดุริยประณีต แล้ว ยังมี สมชาย ดุริยประณีต สุรเดช กิ่มเปี่ยม สุพจน์ โตสง่า และเคยบอกเพลงให้นายบุญยงค์ เกตุคงด้วย วงดนตรีที่ท่านได้ช่วยปรับวงให้ นอกจากวงหมอผินแห่งลพบุรี และนายสกล แก้วเพ็ญกาศ แล้ว ยังมีวงสมภารหยัด วัดม่วงแค นครปฐม วงบ้านนายอู๋ กับอีกหลายวงที่ปากเกร็ด นนทบุรี 

ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งที่กล่องเสียง เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่บ้านหลังวัดสามพระยา รวมอายุได้ ๕๓ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของครูชื้น ดุริยประณีต คุณแม่แถม ดุริยประณีต และ ลูกหลานในสายสกุล ดุริยประณีต)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.