เรือเอกชิต แฉ่งฉวี ร.น. (พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๒๒)

เรือเอกชิต แฉ่งฉวี ร.น. (พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๒๒)

เรือเอกชิต แฉ่งฉวี ร.น.

(พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๒๒)

 

เรือเอกชิต แฉ่งฉวี ร.น. เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็ง บิดาชื่อ ช่วง มารดาชื่อ หอม เมื่อเป็นเด็กได้เรียนหนังสือที่วัดใกล้บ้าน ต่อมาได้เรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง มีฝีมือในการวาดรูปและเขียนแบบต่าง ๆ ได้รับราชการอยู่ที่กรมอุทกศาสตร์ ต่อมาเมื่อได้เป็นนายเรือตรีแห่งราชนาวี ได้ย้ายไปรับราชการที่กรมเจ้าท่ามีหน้าที่เขียนแผนที่ประจำกรม สมรสกับนางสาวเติม ธนโกเศศ คือ นางเบญจรงค์ แฉ่งฉวีในปัจจุบัน มีบุตรีรวม ๕ คน ในปั้นปลายของชีวิตราชการ ได้รับพระราชทานยศเป็นเรือเอก ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ 

เรือเอกชิต แฉ่งฉวี ร.น. ได้เริ่มหัดดนตรีไทย มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ครูคนแรกคือ บิดาของท่านเอง ท่านสามารถเล่นซออู้และซอด้วงได้ดี ต่อมาเมื่อได้เข้าเรียนในโรงเรียนเพาะช่างได้หัดดนตรีกับ ครูเจือ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา สามารถต่อเพลงได้เป็นจำนวนมาก สามารถเดี่ยวซออู้ ขิม และออร์แกน ได้ดีเยี่ยม อีกทั้งสามารถควบคุมวงดนตรีและแต่งเพลงได้ดี นับว่าท่านเป็นศิษย์คนสำคัญของครูเจือ ที่จำเพลงและแม่นเพลงมาก 

เพลงเดี่ยวที่เรือเอกชิต เดี่ยวได้ดี คือ แขกมอญ พญาโศก กราวใน สารถี และลาวแพน โดยเฉพาะ ลาวแพนทางออร์แกนนั้นเป็นเพลงที่ดีเยี่ยม ส่วนเพลงไทยที่ท่านแต่งทั้งคำร้องทำนองขึ้นใหม่ร่วมกับภรรยา ได้แก่ เพลงลาวสมเด็จเถา วายุบุตรยาตราเถา ลาวเล่นน้ำเถา และเขมรทุบมะพร้าวเถา 

ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๙ ท่านและภรรยา ได้ร่วมบรรเลงดนตรีกับวงเสริมมิตรบรรเลง ท่านเป็นหัวหน้าวง และต่อมาได้ร่วมเล่นดนตรีกับวงของคุณประสพสาย พึ่งบุญ ณ อยุธยา วงเตชนะเสนีย์ และวงวัชรบรรเลง เป็นต้น 

ศิษย์ดนตรีไทยของเรือเอกชิต ได้แก่ คุณบังอร บำรุงพงษ์ คุณธนิต ฤทธิ์เจริญ คุณประสิทธิ์ คุ้มทรัพย์ และคุณติ๊ก หงส์เวส เป็นต้น

 

วชิราภรณ์ วรรณดี 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล และคำให้สัมภาษณ์ของ นางเบญจรงค์ แฉ่งฉวี)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.