หลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์) (พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๘๘)

หลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์) (พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๘๘)

หลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์)

(พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๔๘๘)

 

หลวงชาญเชิงระนาด เป็นนักดนตรีเอกมีฝีมือในการตีระนาดมาก จนรับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในรัชกาลที่ ๖ เป็นที่หลวงชาญเชิงระนาด 

เป็นบุตรของนายนาคและนางขาบ ผลารักษ์ เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๓๘ เมื่อเป็นเด็ก ได้เรียนหนังสือและหัดดนตรีกับบิดาที่บ้านแถวตำบลบางกอกน้อย ครั้นเมื่ออายุ ๑๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในสมัยรัชกาลที่ ๕  ได้รับพระราชทานเงินเดือนขั้นแรกเดือนละ ๕ บาท เพราะยังถือว่าเป็นมหาดเล็กชั้นนักเรียน และได้เป็นศิษย์ของพระยาประสานดุริยศัพท์นับแต่นั้นมา 

เมื่ออายุ ๑๕ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๓) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ ๖ หลวงชาญ ฯ ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นมหาดเล็กวิเสส แผนกพิณพาทย์หลวง รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๐ บาท แล้วย้ายไปอยู่กองมหาดเล็กตั้งเครื่อง วันที่ ๙ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายรองสนิท และกลับมาอยู่กรมมหรสพเป็นขุนสนิทบรรเลงการ ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ รับพระราชทานเงินเดือน ๖๐ บาท วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้เป็นหลวงสนิทบรรเลงการ เงินเดือน ๗๐ บาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า เป็นผู้มีฝีมือและชั้นเชิงในการตีระนาดดีเป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัย จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น หลวงชาญเชิงระนาด เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ รับเงินเดือน ๑๐๐ บาท 

หลวงชาญ ฯ สมรสกับนางสาวเป้า บุตรีของนายพลอย นางอยู่ (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นคนบางซื่อ  กรุงเทพฯ ได้เข้ามาอยู่ในวังหลวงรับราชการในความดูแลของท้าวอินทรสุริยา แต่งงานเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ครั้งนั้นยังเป็นหุ้มแพร มีบุตรชายคนโตชื่อ หิรัญ ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเยาว์ บุตรชายคนต่อมาชื่อรัชต์ (เกิด พ.ศ. ๒๔๖๑) กับบุตรีชื่อ อุษา (เกิด พ.ศ. ๒๔๖๓) กับบุตรชายแฝดไม่ทราบนามอีก ๒ คน (เกิด พ.ศ. ๒๔๖๗) 

ต่อมาหลวงชาญ ฯ ได้ภรรยาอีกคนชื่อ ชื้น เป็นหญิงชาววังอยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้าจอมมารดาโหมดในรัชกาลที่ ๕ มีบุตรอีก ๒ คน ชื่อสุวรรณและชำนาญ ไม่ปรากฏว่าบุตรและบุตรีของท่านเป็นนักดนตรีไทยเลย 

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น หลวงชาญ ฯ  มีบ้านพักอยู่ที่ ตำบลชนะสงคราม ใกล้ถนนราชดำเนิน แล้วย้ายมาอาศัยอยู่กับพระยาบำเรอภักดิ์ (สาย ณ มหาชัย) ที่บ้านพักถนนพลับพลาไชย ต่อมาจึงย้ายมาอยู่ที่บ้านท่านจมื่นเทพดรุณ ที่ตำบลนางเลิ้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๒ แล้วได้เข้าไปอยู่ในที่เช่าของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถนนหลานหลวง พ.ศ. ๒๔๖๔ ย้ายมาปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของพระอนิรุทธเทวา อันเป็นบ้านสุดท้ายของท่านที่ตำบลเทเวศร์ 

หลวงชาญ ฯ เป็นผู้มีฝีมือดีมากในการตีระนาดเอก อาจารย์มนตรี ตราโมท กล่าวยืนยันว่าตีระนาดเรียบดีมาก ปกติเป็นคนเรียบร้อย นิสัยดี ใจคอเยือกเย็น ท่านสนิทสนมกับครูพุ่ม โตสง่า และแลกเปลี่ยนทางเพลงกันอยู่เสมอ ได้เคยมาสอนระนาดให้ศิษย์หลายคนที่บ้านครูพุ่ม โตสง่า ด้วย ศิษย์เอกของท่านคือ ครูรวม พรหมบุรี แห่งจังหวัดราชบุรี ซึ่งเรียนระนาดและทางเดี่ยวทุกเพลงจากท่าน ครูรวมเล่าว่า ความสุภาพของหลวงชาญ ฯ นั้น มักแสดงออกในลักษณะนิ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับใคร เวลาเดี่ยวระนาดแข่งขันกัน ถ้าท่านเห็นฝ่ายตรงข้ามแสดงกิริยาอาการฮึกเหิมอยากเอาชนะ ท่านก็ปล่อยเขาตามสบาย หรือบางทีแกล้งตีผิด ๆ เสีย หรือไม่ก็ตีธรรมดา ๆ โดยไม่พยายามที่จะเอาชนะ ปล่อยให้คู่ต่อสู้ชนะไปเช่นนี้บ่อย ๆ 

คุณพูนทรัพย์ ตราโมท เล่าว่า หลวงชาญ ฯ ตีระนาดไหวดี และเป็นคนตีระนาดทางดี ตีระนาดเพลงละครไพเราะมาก เพราะเคยอยู่กับละครของพระยาอนิรุทธเทวามานาน หลวงชาญ ฯ เป็นคนจำแม่นว่าตัวละครคนไหนร้องเสียงไหน ระนาดลูกใดจึงตรงเสียงคนร้อง และเป็นที่เคารพนับถือของผู้แสดงละครทุกคน 

หลวงชาญเชิงระนาดป่วยเป็นวัณโรคเรื้อรัง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ รวมอายุได้ ๕๐ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง คำบอกเล่าของอาจารย์มนตรี ตราโมท นายรวม พรหมบุรี และนายสุพจน์ โตสง่า)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.