ชั้น ดุริยประณีต (พ.ศ.๒๔๗๕-๒๔๙๖)

ชั้น ดุริยประณีต (พ.ศ.๒๔๗๕-๒๔๙๖)

ชั้น ดุริยประณีต

(พ.ศ.๒๔๗๕-๒๔๙๖)

 

นายชั้น ดุริยประณีต เป็นบุตรคนที่ ๔ ของนายศุข และนางแถม ดุริยประณีต เดิมชื่อเหย่ เกิดที่บ้านหลังวัดสังเวชวิศยาราม ถนนลำพู กรุงเทพมหานคร เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ มีพี่ ๓ คน คือ นายชุบ นายโชติ นายชื้น มีน้อง คือ นางสุดา (เชื่อม) เขียววิจิตร นางแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ นางชม รุ่งเรือง นางทัศนีย์ พิณพาทย์ นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต และนายสืบสุด ดุริยประณีต ล้วนเป็นนักร้อง นักดนตรีที่มีฝีมือดีมากทุกคน 

ด้านการศึกษาวิชาดนตรี เริ่มเรียนจากบิดา เมื่ออายุราว ๕-๖ ปี พออายุได้ ๗ ปี ก็ติดตามบิดามารดาไปรับงานดนตรีปี่พาทย์ได้ อายุได้ ๑๐ ปี ก็ตีฆ้อง ตีระนาด ตีกลองได้คล่อง จากนั้นบิดาได้ส่งตัวเข้าไปอยู่ที่บ้านพระยาณัฐกานุรักษ์ ถนนพระอาทิตย์ เวลาโรงเรียนเปิด ก็เรียนหนังสือที่โรงเรียนครูแนบ ในวัยหนุ่มได้เข้าสังกัดวงปี่พาทย์และมหรสพหลวง ประจำอยู่ท้ายวังหลวงมาตลอดสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นศิษย์ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) โดยพระยาเสนาะฯ ได้กรุณามาต่อระนาดให้จนถึงบ้าน และได้เป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตนวิลัย) อาจารย์มนตรี ตราโมท และครูสอน วงฆ้อง จนมีความชำนาญ ในการบรรเลงปี่พาทย์ได้รอบวง (ยกเว้น ปี่) 

ชีวิตครอบครัว ได้แต่งงานกับนางสาวจิตรา โชติมัย บุตรีของพระผ่านนทีว่อง (เปล่ง) และนางอ่อน โชติมัย มีบุตรชาย ๓ คน คือ นายชูใจ (หมู) เคยรับราชการอยู่กองดุริยางค์ทหารเรือ แล้วย้ายออกมาสังกัดสำนักพระราชวัง คนที่ ๒ ส.อ.สมชาย (หมัด) เป็นผู้ควบคุมวงดุริยประณีตต่อมาและคนสุดท้อง คือ วิชา (หลิม) ถึงแก่กรรม 

ครูชั้นได้ร่วมวงกับครูโชติ ผู้พี่ชาย แต่งเพลงไว้หลายเพลง ในด้านการสอนมีศิษย์คนสำคัญคือ ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูสมาน ทองสุโชติ ครูสืบสุด ดุริยประณีต ม.ล.สุรักษ์ สวัสดิกุล จิรัส อาจณรงค์ และศิษย์จากวงดนตรีบ้านปากเกร็ด วงวัดปะขาว ตำบลสีกุก อำเภอบางบาล จังหวัดอยุธยา เป็นต้น 

ครูชั้น ถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ด้วยโรคตับแข็ง รวมอายุได้ ๓๙ ปี ได้ฌาปนกิจศพที่วัดสังเวชวิศยาราม ในปีเดียวกัน

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.