ช้อย สุนทรวาทิน (ไม่ทราบปีที่เกิด  และปีที่ถึงแก่กรรม)

ช้อย สุนทรวาทิน (ไม่ทราบปีที่เกิด  และปีที่ถึงแก่กรรม)

ช้อย สุนทรวาทิน

(ไม่ทราบปีที่เกิด  และปีที่ถึงแก่กรรม)

 

“ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว…” ใครได้ยินเพลงแขกลพบุรีนี้จะต้องชมว่าไพเราะนัก  ทุกคนไป  ถือเป็นสมบัติแห่งอารยธรรมของไทยเราได้อย่างหนึ่งทีเดียว  เพลงนี้และอีกหลายเพลงซึ่งผู้เป็นนักดนตรีแท้ จะต้องรู้จักและได้เล่าเรียน  เช่น  โหมโรงครอบจักรวาล โหมโรงมะลิเลื้อย  ม้าย่อง  อกทะเล  แขกโอด  ใบ้คลั่ง  เขมรปี่แก้ว  เขมรโพธิสัตว์  เทพรัญจวน พราหมณ์เข้าโบสถ์  ฯลฯ  ล้วนแล้วแต่เป็นงานคีตนิพนธ์ของอัจฉริยภาพผู้นี้ทั้งสิ้น   ท่านเป็นนักดนตรีอยู่ในสมัยรัชกาลที่  ๔  และที่  ๕    

ครูช้อยเป็นบุตรของครูทั่ง  ผู้เป็นครูดนตรีที่มีชื่อเสียงยิ่งท่านหนึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์   เมื่อเล็กตาบอดเพราะไข้ทรพิษ    แต่ความสามารถทางดนตรีนั้นเป็นอัศจรรย์นัก   ทั้งที่ยังมิได้ร่ำเรียนเป็นเรื่องเป็นราวกับท่านบิดา   ครูช้อยก็สามารถเป็นคนระนาดนำวงบรรเลงสวดมนต์เย็นฉันเช้าได้ด้วยดี  โดยไม่ผิดพลาดบกพร่อง  เป็นเหตุให้ท่านบิดาแลเห็นสำคัญจนทุ่มเทถ่ายทอดวิชาให้ต่อมา   

ในบรรดาผู้ที่เป็นศิษย์ของครูช้อยนั้น  นอกจากพระยาเสนาะดุริยางค์  (แช่ม   สุนทรวาทิน) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงในรัชกาลที่  ๕  ผู้เป็นบุตร   และพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก  ประสานศัพท์) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงในรัชกาลที่  ๖    ซึ่งเป็นนักดนตรีไทยเพียง  ๒  คน   ที่มีบรรดาศํกดิ์เป็นถึงชั้นพระยา ทางดุริยางค์ไทยแล้ว   ก็ยังมีนักดนตรีผู้มีฝีมืออีกหลายคน   เช่น   พระประดับดุริยกิจ (แหยม  วีณิน)  หลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร  กรวาทิน) และนักดนตรีของวงปี่พาทย์วัดน้อยทองอยู่  ซึ่งในภายหลังได้เข้ารับราชการเป็นนักดนตรีในวงดนตรีข้าหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทั้งหมด นอกจากนี้  ครูช้อยยังได้รับเชิญเป็นครูดนตรีตามวังเจ้านาย    และบ้านของท่านผู้ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่  ๕  อีกด้วย เช่น  ที่ตำหนักของเจ้าดารารัศมี  พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และที่บ้านของพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) เป็นต้น     

ด้านชีวิตครอบครัว ครูช้อยแต่งงานกับนางสาวไผ่   ตั้งบ้านเรือนเป็นหลักฐานอยู่ที่ตำบลสวนมะลิ ในกรุงเทพมหานครนี้เอง   มีบุตรธิดาทั้งสิ้น  ๔  คน   คือ   แช่ม   ชื่น   ชม   และผิว

 

พิชิต ชัยเสรี 

(เรียบเรียงจาก “ประวัตินักดนตรีไทย” ของ  เจริญชัย   ชนไพโรจน์  และ คำบอกเล่าของ  อาจารย์เจริญใจ  สุนทรวาทิน)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.