ช่อ สุนทรวาทิน (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๐๐)

ช่อ สุนทรวาทิน (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๐๐)

ช่อ สุนทรวาทิน

(พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๐๐)

 

นายช่อ สุนทรวาทิน  เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นบุตรคนสุดท้อง (คนที่ ๓) ของนายชื่น สุนทรวาทิน (น้องชายพระยาเสนาะดุริยางค์ แช่ม สุนทรวาทิน) และนางหนู (พี่สาวแท้ ๆ ของจางวางทั่ว พาทยโกศล) มีพี่สาวคนหนึ่งชื่อชั้น (สุนทรวาทิน) อักษรทับ และพี่ชายชื่อฉัตร ทั้ง ๓ คนพี่น้องนี้เป็นนักดนตรีมีความสามารถสูงทุกคน  

เมื่อเด็กเรียนดนตรีจากครูทองดี ชูสัตย์ หลวงกัลยามิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) และจางวางทั่ว พาทยโกศล ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าชายแท้ ๆ นับเป็นศิษย์ที่หลวงกัลยามิตตาวาส เคี่ยวเข็ญมามากที่สุดคนหนึ่ง จึงเป็นผู้มีความรู้ในทางดนตรีดีมาก รวมทั้งมีฝีมือดีมากด้วย สามารถเล่นดนตรีได้ดีทุกชนิด ยกเว้นปี่ ตีขิมเพราะมาก ตีระนาดก็เยี่ยม ที่ถนัดมากที่สุด คือ ฆ้องวง ซึ่งเคยชนะที่ ๑ ในการประชันพิณพาทย์ที่วังบางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖  

โดยปกติเป็นคนสมองดี จำเพลงแม่น และได้เพลงมากจึงเป็นครูที่มีความรู้ความสามารถอย่างดีฝีมือฆ้องใหญ่ ซออู้ ขิม นั้น ดีมากที่สุดทั้ง ๓ ชนิด และเป็นคนฆ้องประจำวงปี่พาทย์บ้านวัดกัลยาณมิตรของครูจางวางทั่วมาตลอด เคยสอนดนตรีอยู่ในโรงเรียนราชินี สอนและควบคุมวงดนตรีบ้านใหม่อยุธยา ของนายสังเวียน เกิดผล มีศิษย์หลายคน อาทิ เช่น กำนันสำราญ เกิดผล นายวิเชียร เกิดผล ฯลฯ รวมทั้งได้มีส่วนปลูกฝังดนตรีไทยในจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๖-พ.ศ. ๒๔๘๕ อีกด้วย  

ท่านแต่งงาน ๓ ครั้ง มีภรรยาชื่อ เล็ก ชื่อ วาด ซึ่งไม่มีบุตรสืบสกุล ส่วนคนที่ ๓ ชื่อ หอม มีบุตรีคนหนึ่ง สีซออู้เพราะมาก ชื่อ “หอมหวล”  

ท่านถึงแก่กรรมระหว่างงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ที่จังหวัดอยุธยาโดยอาเจียนเป็นโลหิต เพราะเป็นโรคปอด  (วัณโรคเรื้อรัง) มานาน รวมอายุได้ ๖๑ ปี  ได้ทำการฌาปนกิจศพที่วัดบำรุงธรรม อำเภอบ้านใหม่ จังหวัดอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑

 

อารดา กีระนันท์ 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล คำบอกเล่าของคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ และคำบอกเล่าของนายสังเวียน เกิดผล)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.