ชม (เขียว) รุ่งเรือง (พ.ศ. ๒๔๖๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ชม (เขียว) รุ่งเรือง (พ.ศ. ๒๔๖๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

ชม (เขียว) รุ่งเรือง

(พ.ศ. ๒๔๖๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

 

นางชม รุ่งเรือง เป็นบุตรีของนายศุขและนางแถม ดุริยประณีต  มีชื่อเดิมว่า เขียว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔ ที่บ้านถนนลำพู หลังวัดสังเวชวิศยาราม เป็นน้องของครูโชติ ครูชิ้น ครูชั้น (เหย่) ดุริยประณีต เป็นน้องสาวของครูสุดา เขียววิจิตร และครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ เป็นพี่สาวของ ครูสุดจิตต์ และครูสืบสุด ดุริยประณีต  

เมื่อเล็กได้เรียนหนังสือกับครูแนบ ที่โรงเรียนแนบวิทยา บางลำพู จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ แล้ว บิดาให้ออกจากโรงเรียนมาช่วยงานบ้านรวมทั้งเป็นนักร้องประจำวงปี่พาทย์ดุริยประณีต ซึ่งบิดาเป็นเจ้าของ ได้ต่อร้องเพลงไทยกับคุณแม่แถมผู้เป็นมารดาตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ แล้วมาต่อตับเจริญศรีกับพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ครั้นต้องมาทำหน้าที่เป็นนักร้องประจำวงของบิดา จึงมาต่อเพลงเถา จากครูสุดา เขียววิจิตร ครูแช่มช้อย และครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ผู้เป็นพี่เขยด้วย จนสามารถร้องเพลงตับ เพลงเถา เพลงประกอบการแสดงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และเนื่องจากพี่ชาย ๓ คนและพี่สาว ๒ คน ได้เข้ารับราชการอยู่ในกรมมหรสพ (ต่อมาเป็นกรมศิลปากร) บิดาจึงเกรงใจมิกล้าส่งตัวครูชม เข้าไปเป็นข้าราชการกรมศิลปากรอีก ประกอบกับมีโรงเรียนบางแห่งต้องการครูสอนขับร้อง จึงได้เริ่มต้นสอนขับร้องในโรงเรียนวรวุฒิ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้วย้ายไปสอนที่โรงเรียนโฆษิตอีกระยะหนึ่ง จากนั้น อาจารย์บุญฉวี พรหโมปกรณ์กิจ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสตรีวัดระฆังได้ชวนไปเป็นครูสอนขับร้อง จึงย้ายไปสอนประจำอยู่ที่โรงเรียนสตรีวัดระฆังเรื่อยมาจนเกษียณอายุ  

ในด้านความสามารถทางดนตรีไทยนั้น ครูชมเป็นคนร้องเพลงไทยที่มีกระแสเสียงไพเราะได้เพลงตับ เพลงเถามาก สามารถถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถสีซอด้วง ซออู้ และตีกลองประกอบหน้าทับเพลงได้ นอกจากร้องเพลงประจำวงดุริยประณีตของบิดาแล้วยังเป็นนักร้องวงเครื่องสายที่มีชื่อเสียงอีกหลายวงอาทิ วงนายประพาส สวนขวัญ วงนายพุฒ นันทพล วงนายเสนาะ ศรพยัคฆ์ สมัยเมื่อเริ่มมีวิทยุกระจายเสียงออกอากาศ ณ วังพญาไท (โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ในปัจจุบัน)  ได้มีการประกวดขับร้องออกอากาศ ใช้วิทยุแร่เป็นเครื่องรับ ปรากฏผลการประกวดครั้งนั้น คือ คุณเบญจา ตุงคมณี ได้ที่ ๑ ได้ ๑๐ คะแนนเต็ม ครูชม ดุริยประณีตได้ ๙ คะแนน และคุณลำจวน ถิ่นคำ ได้ ๘ คะแนน เป็นการประกวดครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิต  โดยปกติแล้วครูชมจะร้องประชันวงในวงดุริยประณีตของบิดาเสมอ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้บันทึกเสียงไว้เลย  

ในด้านครอบครัว ได้แต่งงานกับนายผวน รุ่งเรือง มีบุตรด้วยกัน ๘ คน ทุกคน มีความสามารถในทางดนตรี เรียงตามลำดับ คือ นายอำนวย (ฆ้อง ทุ้ม เครื่องหนัง) พจนีย์ (ซอและขับร้อง) วาสนา (ขับร้อง) วิษณุ (เครื่องหนัง) กมล (ฆ้องและเครื่องหนัง) วัฒนา (ซอ) ภราดร  (ดนตรีสากล) และพรพิบูลย์ (จะเข้และขับร้อง)  โดยเฉพาะบุตรี ๓ คนคือ พจนีย์ วาสนา และพรพิบูลย์ นั้น ครูชมได้สอนขับร้องให้ด้วยตัวเอง จนมีชื่อเสียงทุกคน  

ศิษย์ขับร้องที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สุรางค์ ดุริยพันธุ์ ดวงเนตร ดุริยพันธุ์ จริยา ภัทรปาล จันทนา สุขะวิริยะ จำรัส เขียววิจิตร ฯลฯ

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ นางชม (เขียว) รุ่งเรือง ครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ และครูสุดา เขียววิจิตร) 

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.