เจริญใจ สุนทรวาทิน (พ.ศ.๒๔๕๘ – ๒๕๕๔)

เจริญใจ สุนทรวาทิน (พ.ศ.๒๔๕๘ – ๒๕๕๔)

เจริญใจ สุนทรวาทิน

(พ.ศ.๒๔๕๘ – ๒๕๕๔)

 

อาจารย์เจริญใจ  สุนทรวาทิน เป็นบุตรีคนสุดท้องของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) กับคุณหญิงเสนาะดุริยางค์ (เรือน) เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เรียนวิชาสามัญที่โรงเรียนศึกษานารี จนจบชั้นมัธยมที่ ๑ จึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนราชินี จนกระทั้งจบชั้นมัธยมปีที่ ๔ พระยาเสนาะดุริยางค์ผู้เป็นบิดาได้สังเกตพิจารณาอย่างถ่องแท้จนรู้แน่ชัดว่าบุตรีมีความสามารถ มีพรสวรรค์เป็นเลิศในการขับร้อง สามารถที่จะถ่ายทอดวิชาดนตรีได้ดีกว่าคนอื่น ๆ จึงให้ออกจากการศึกษาวิชาสามัญและทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาวิชาดนตรีอย่างเต็มที่ 

การเรียนดนตรีของอาจารย์เจริญใจ เรียกได้ว่าวันละสามเวลา คือตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน ตอนเย็นกลับจากโรงเรียน  และตอนค่ำก่อนจะเข้านอน โดยท่านบิดาจะค่อย ๆ สอนให้วันละเล็กละน้อยอย่างช้า ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนได้ความรู้ครบถ้วน ทั้งกลวิธีเม็ดพรายในการขับร้องไปจนถึงความถูกต้องตามอารมณ์ของเพลง นับได้ว่าทุกวรรคทุกตอนนั้นขัดเกลาปลูกฝังกันโดยสมบูรณ์ตามระเบียบวิธีแบบโบราณโดยแท้ ทั้งมิใช่จะเรียนแต่การขับร้องแต่เพียงอย่างเดียว ทางเครื่องก็ต้องเรียนไปพร้อม ๆ กันด้วย อาจารย์เจริญใจสามารถตีระนาดเอกเพลงพญาโศกได้จนครบ ๔ เที่ยว ตามระเบียบวิธีการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอก ทั้งรู้เนื้อฆ้องและปฏิบัติเครื่องสายได้ถึงเดี่ยวทุกเครื่องมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซอสามสาย ซึ่งในขณะเขียนบันทึกนี้ (พ.ศ.๒๕๒๕) ฝีมือการบรรเลงซอสามสายของท่าน นับได้ว่าเป็นเลิศ 

หน้าที่การงานของอาจารย์เจริญใจพอสรุปได้ดังนี้ 

รัชกาลที่ ๖ เข้าถวายตัวเป็นข้าหลวงเรือนนอก (ข้าหลวงไปกลับมิได้ประจำอยู่ในวัง) ทำหน้าที่เป็นนักร้อง ได้รับพระราชทานเสมาทองคำ ร.๖ 

รัชกาลที่ ๗ เข้าถวายตัวเป็นข้าหลวงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มีหน้าที่ขับร้องและบรรเลงดนตรีประจำวงดนตรีมโหรีหลวงในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานเหรียญ รพ. ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี 

รัชกาลที่ ๘ โอนไปสังกัดสำนักพระราชวัง กรมศิลปากร และโรงเรียนการเรือนพระนคร ตามลำดับ และสอนอยู่ที่โรงเรียนการเรือนพระนคร กับโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ จนเกิดสงครามโลก ครั้งที่ ๒ จึงออกจากราชการ 

รัชกาลที่ ๙ เริ่มเข้าสอนดนตรีไทยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๒๕) โดยมิได้รับค่าสอนเลยในระยะ ๑๒ ปีแรก ครั้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเข้าทรงศึกษาระดับปริญญาตรี จึงได้ถวายการสอนส่วนพระองค์ต่อมา 

ผลงานทางดนตรีเรียงตามลำดับเวลาได้ดังนี้ 

๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๖ ประกวดปี่พาทย์ ณ วังบางขุนพรหม อายุได้ ๘ ปี เป็นนักดนตรีที่อายุน้อยที่สุด ผลการประกวด ขับร้องได้ที่ ๓

พ.ศ. ๒๔๙๒ ประกวดขับร้องเพลงไทยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ที่ ๑ สำเนียงและทางร้องนั้นไพเราะจนกระทั่งกรรมการต้องขอดูตัวเป็นพิเศษ

พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้รับเชิญจากกรมศิลปากรเพื่อบันทึกเสียงการขับร้อง และการเดี่ยวซอสามสายเก็บรักษาไว้เป็นแบบฉบับของดุริยางคศาสตร์ต่อไป

พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับเชิญจากโครงการพัฒนาดนตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อบันทึกการขับรองเพลงเกร็ดโบราณและเพลงละครประเภทต่าง ๆ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการขับร้องที่มีคุณค่าควรอนุรักษ์

พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาโครงการดนตรีไทย จากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ผลงานทางดนตรีไทยของท่านนั้น มีอีกเป็นอันมาก ทั้งการบันทึกแผ่นเสียงตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๗ เพลงแรกคือ เพลงอาถรรพ์ จนถึงปัจจุบัน การบรรเลงถวายในโอกาสสำคัญ ๆ ต่าง ๆ เช่น คราวรับเสด็จสมเด็จพระราชินี มากาเร็ตเธ่อ เสด็จเยือนประเทศไทยครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมารีก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์เจริญใจเข้าเฝ้า ได้สีซอสามสายและขับร้องพร้อมกันนับเป็นคนแรกในประวัติการดนตรีของสยามประเทศ การแต่งทางร้องเพลง ได้แก่ เพลงพญาสี่เสา จินตะหราวาตี สาวสุดสวย และฉลองพระนคร การเป็นกรรมการตัดสินการประกวดดนตรีไทยและการขับร้องต่าง ๆ รวมทั้งงานการสอนดนตรีตามมหาวิทยาลัย และสถาบันอันมีเกียรติอีกหลายแห่งจนได้ชื่อว่า เป็นผู้มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิมากที่สุดท่านหนึ่ง แต่ผลงานดนตรีซึ่งเป็นความปลื้มปิติของท่านยิ่งนัก คือ การได้รับความไว้วางพระทัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ให้เป็นผู้ใส่เพลงขับร้องถวายในบทพระราชนิพนธ์ส่วนพระองค์ต่าง ๆ การได้ร่วมทำงานละครต่าง ๆ ตามพระบัญชา การได้รับพระกรุณาพระราชทานพรในวันเกิดเป็นพระราชนิพนธ์ขับร้อง รวมทั้งที่มีพระเมตตาพระราชทานชื่อบ้านของท่านว่า “เรือนมโหรี” ดังลายพระหัตถ์ปรากฏว่า “ให้ชื่อเรือนของอาจารย์เจริญใจว่า “เรือนมโหรี” ขอจงเป็นสถานที่ยังความสุขแก่ใจ” ทั้งหลายนี้เป็นกำลังใจและเป็นความประทับใจของท่านอย่างยิ่ง

ด้วยเกียรติคุณทั้งปวงของท่าน รัฐบาลไทยจึงยกย่องให้เป็นสตรีสากลคนแรกที่เป็นศิลปินในปีสตรีสากล เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ แม้บัดนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ท่านจะมีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมิได้ย่อท้อต่อการทำนุบำรุงรักษาดนตรีไทย ศิษย์ของท่านเข้าประกวดร้องเพลงได้รางวัลชนะเลิศทั้งชายและหญิง ในการประกวดชิงรางวัลฆ้องทองคำ ซึ่งจัดประกวดโดย นายบุญเสริม ถาวรกุล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ สมดังปณิธานของท่านที่ตั้งใจว่าจะพยายามสั่งสอนปรับปรุงในด้านคุณภาพให้คนเข้าใจความไพเราะของดนตรีไทย เพื่อให้สมกับราชทินนาม “เสนาะดุริยางค์” ของท่านบิดาผู้วางรากฐานอันมั่นคงให้แก่ท่าน จนกล่าวได้ว่าปัจจุบันท่านเป็นผู้รอบรู้ในการขับเสภาการละครทั้งละครนอกละครใน และละครดึกดำบรรพ์โดยแตกฉาน ทั้งเป็นคลังแห่งความรู้ซึ่งไม่อาจหาได้ในที่อื่น ๆ

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ท่านได้รับเกียรติสูงสุดให้รับพระราชทานปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาดุริยางค์ไทย) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) นับเป็นผู้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างยิ่ง สมเป็นผู้สืบตระกูล “เสนาะดุริยางค์” โดยแท้

อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ถึงแก่กรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ สิริอายุได้ ๙๔ ปี ๖ เดือน ๒๕ วัน

 

พิชิต ชัยเสรี 

(เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของอาจารย์เจริญใจ  สุนทรวาทิน)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.