เจริญ พาทยโกศล (พ.ศ.๒๔๑๙–๒๔๙๘)

เจริญ พาทยโกศล (พ.ศ.๒๔๑๙–๒๔๙๘)

เจริญ พาทยโกศล

(พ.ศ.๒๔๑๙–๒๔๙๘)

 

ถ้าจะกล่าวถึงนักร้องเพลงไทยชั้นนำ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เห็นจะไม่มีใครลืมหม่อมเจริญ หรืออีกนัยหนึ่ง นางเจริญ พาทยโกศล ซึ่งได้รับยกย่องว่าร้องเพลงดี ทั้งลีลาและจังหวะ เสียงดังกังวาน และกระแสเสียงไพเราะอย่างหาคนเทียบได้ยาก และทั้งเป็นครูทางร้องซึ่งมีลูกศิษย์มากมายซึ่งได้ประสบความสำเร็จกันไปหลายคน 

คุณแม่เจริญ พาทยโกศล หรือที่เรียกกันติดปากว่า หม่อมเจริญ เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๘ ปีชวด ตรงกับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๙ เป็นบุตรนายชื่น นางแห รุ่งเจริญ ซึ่งมีอาชีพทำสวนอยู่ที่บ้านเชิงเลน ตำบลบางเชือกหนัง มีพี่น้อง ๘ คน เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี พี่สาวซึ่งเป็นลูกของป้า ชื่อ หม่อมตลับ กุญชร ณ อยุธยา ได้นำตัวเข้ามาฝึกหัดขับร้องและฟ้อนรำอยู่ในวังของพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ หรือที่เรียกว่าวังบ้านหม้อ ต่อมาได้เป็นหม่อมในเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) และมีบุตรี ๒ คน เมื่อราว พ.ศ.๒๔๕๒ จึงได้ออกจากวังบ้านหม้อ แล้วไปอยู่กับจางวางทั่ว พาทยโกศล และบุตร ๔ คน ที่เกิดแต่จางวางทั่วนั้นเสียชีวิตแต่ยังเยาว์ ในขณะเดียวกันคุณแม่เจริญก็ได้เลี้ยงดูเด็กชายนก (คือนายเทวาประสิทธิ์) และเด็กหญิงไพฑูรย์ (คือคุณหญิงไพฑูรย์กิตติวรรณ)  บุตรของจางวางทั่วตั้งแต่เล็ก ประหนึ่งว่าเป็นบุตรของตนเอง ทั้งยังประสิทธิประสาทวิชาดนตรีให้ด้วย ในกาลต่อมาคุณแม่เจริญถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๘ มีอายุได้ ๗๙ ปี 

เมื่อครั้งที่เริ่มเข้าไปอยู่ในวังบ้านหม้อนั้นได้หัดฟ้อนรำกับหม่อมเลื่อน  และเคยได้แสดงละครดึกดำบรรพ์บ้าง ส่วนทางด้านการดนตรีนั้นได้เป็นศิษย์หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี พงษ์ทองดี) ซึ่งเป็นนายวงปี่พาทย์ของวังบ้านหม้อ ขณะนั้น และเป็นศิษย์ทางร้องของหม่อมเปรม  ทางร้องที่หม่อมเปรมต่อให้นั้น เป็นทางเก่าแก่ที่ท่านต่อมาจากเจ้าจอมมารดาศิลาในรัชกาลที่ ๒ อีกทอดหนึ่ง คุณแม่เจริญ มีความจำเป็นเลิศจึงต่อเพลงได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำทั้งบทร้องและทำนอง 

ตลอดระยะเวลาที่เจ้าพระยาเทเวศร์ เป็นเจ้ากรมมหรสพอยู่นั้น มักจะให้คนร้องจากวังบ้านหม้อไปช่วยร้องในงานหลวงด้วยเสมอ ๆ คุณแม่เจริญได้ร้องเพลงเป็นต้นเสียงออกงานสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมืองตั้งแต่อายุได้เพียง ๑๒ ปี  จนเป็นที่นิยมยกย่องกันโดยทั่วไป เมื่อมีโอกาสได้ซ้อมร้องเพลงและเล่นละครถวายสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์นั้น สมเด็จฯ ได้ทรงพระกรุณาสั่งสอนติเตียนแก้ไขบ้างจนกระทั่งคุณแม่เจริญร้องเพลงดีขึ้นโดยลำดับ การที่ท่านได้คลุกคลีกับวงการละครมาตั้งแต่ยังเยาว์เป็นเหตุให้ท่านชำนาญเพลงละครทุกประเภทไปด้วย 

ในคราวที่คุณแม่เจริญได้แสดงละครในงานเลี้ยงรับรองเค้านท์ออฟตุริน ราชอาคันตุกะจากประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ นั้น คุณแม่เจริญก็ได้ร้องเพลงได้ดีจนเป็นที่ประทับใจมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำเนินนำเค้านท์ออฟตุรินมาแสดงความชื่นชมกับนักแสดงและได้พระราชทานพระหัตถ์ให้คุณแม่เจริญจับตามธรรมเนียมตะวันตก คุณแม่เจริญคงจะรู้สึกกลัวเกรงเป็นที่ยิ่งเพราะโดยปรกติจะเป็นการไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามคุณแม่เจริญก็จำต้องปฏิบัติตามนั้น 

เมื่อไปอยู่ที่บ้านจางวางทั่ว นอกจากจะช่วยคุมวงปี่พาทย์และสอนร้องให้ศิษย์ที่มาฝากตัวแล้ว คุณแม่เจริญยังได้ถวายตัวเป็นข้าในวังสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วงพินิต (ทูนกระหม่อมบริพัตรฯ) ท่านได้ทำหน้าที่เป็นนักร้องประจำวงปี่พาทย์ของวงวังบางขุนพรหมตลอดมา กับทั้งได้ช่วยสอนร้องให้แก่นักร้องในกองแตรวงทหารเรือ ซึ่งทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงบัญชาการอยู่ ตลอดจนกระทั่งเป็นกรรมการตัดสินการประกวดขับร้องในงานกาชาดอีกด้วย 

คุณแม่เจริญมีความสามารถในทางร้องเป็นเลิศ และยังมีความสามารถในการประพันธ์อยู่มิใช่น้อย ได้ทำทางร้องไว้หลายเพลง เมื่อครั้งที่ทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงพระนิพนธ์ทำนองเพลงแล้ว มักจะทรงขอให้คุณแม่เจริญทำทางร้องและบรรจุบทร้องให้ เช่น เพลงแขกสาย อาถรรพ์ เนื่องจากคุณแม่เจริญมีความจำดีจึงสามารถจำบทจากวรรณคดีได้มากมาย และสามารถเลือกเนื้อเพลงบรรจุได้อย่างเหมาะสมทุกครั้ง แม้เมื่อทูนกระหม่อมบริพัตรฯ เสด็จไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศชวาแล้ว ก็ยังทรงหารือเรื่องเพลงร้องกับคุณแม่เจริญโดยผ่านมาทางนายเทวาประสิทธิ์หลายครั้ง 

เมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ มีบริษัทจากเบลเยี่ยมเข้ามาบันทึกเสียงในเมืองไทย คุณแม่เจริญได้รับเลือกเป็นนักร้องต้นเสียงด้วยคนหนึ่ง ใช้ชื่อลงบนแผ่นเสียงว่าหม่อมเจริญ (ขณะนั้นท่านยังอยู่ในวังบ้านหม้อ) นับเป็นนักร้องรุ่นแรกๆ ที่ได้บันทึกลงจานเสียง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๑ ก็มีการอัดแผ่นเสียงครั้งใหญ่อีก คุณแม่เจริญนอกจากจะเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียงแล้วท่านยังเป็นแม่กองอัดแผ่นเสียงให้กับบริษัทพาโลโฟนเสียเองอีกด้วย โดยได้รับพระกรุณาจากทูนกระหม่อมบริพัตรฯ ให้ใช้ชื่อวงว่า วงพิณพาทย์วังบางขุนพรหม (คือวงพิณพาทย์ของจางวางทั่ว นั่นเอง) 

คุณแม่เจริญร้องเพลงได้ดีมาตั้งแต่ยังเยาว์ตลอดมาจนวัยชรา ท่านได้ถ่ายทอดวิชาร้องเพลงให้ศิษย์ด้วยความตั้งใจจะให้ได้ดี เช่น ปรับให้ร้องให้ตรงเสียง ควบคุมจังหวะให้ถูกต้อง  เวลาสอนท่านชอบถือไม้ยาวไว้ในมือคอยเคาะจังหวะ แต่กระนั้นท่านก็เป็นคนมีอารมณ์ดีเสมอ ไม่เคยดุหรือลงโทษลูกศิษย์ถึงลงไม้ลงมือ ศิษย์ทางร้องของท่านมีมากมาย เช่น นางสาวเทียม กรานต์เลิศ  คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ  นายโป๊ะ เหมรำไพ   นายอาจ สุนทร   นางสาวสอาด อ๊อกกังวาล  นางสาวเฉิด อักษรทับ   นางยุพา พาทยโกศล   นางสว่าง คงลายทอง ฯลฯ

 

อารดา กีระนันทน์ 

(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล และคำบอกเล่าเพิ่มเติมของผู้เป็นศิษย์ของ คุณแม่เจริญ พาทยโกศล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.