เอื้อน ดิษฐเชย (ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม)

เอื้อน ดิษฐเชย (ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม)

เอื้อน ดิษฐเชย

(ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม)

 

นายเอื้อน ดิษฐเชย  เป็นบุตร ขุนประสาน (เชย) และนางนิล เกินในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ไม่ทราบปีที่เกิด มารดาของนายเอื้อนเคยเป็นหม่อมของกรมหลวงพรหมวรานรักษ์มาก่อน แล้วจึงมาอยู่กับขุนประสาน ฯ เมื่อเล็กจะเรียนดนตรีจากท่านครูผู้ใดยังสืบประวัติไม่ได้ แต่ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ ได้มาเกี่ยวข้องเคารพนับถือด้วยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จนได้ชื่อว่าเป็นศิษย์คนหนึ่ง 

ชีวิตเมื่อวัยหนุ่ม รับราชการกรมชลประทานอยู่ใต้บังคับบัญชาของเจ้าพระยาพลเทพ ฯ แล้วต่อมาย้ายมาอยู่กองรังวัดที่ดินสมัยพระยาเกษตรรักษาเป็นอธิบดี บ้านของนายเอื้อน เป็นบ้านใหญ่อยู่ใกล้ตำบลวรจักร์ ที่เรียกว่า บ้านเขมร ในบ้านของท่านมีนักดนตรีมาเรียนแตรวง และปี่พาทย์เครื่องสายจำนวนมากมาย จนจำต้องตั้งกะทะใบบัวหุงข้าวอยู่เป็นประจำ   

นายเอื้อน ได้ชื่อว่าเป็นครูดนตรีที่เคร่งครัด สอนดีแต่ดุ นักดนตรีของท่านจะต้องแต่งตัวเรียบร้อย ใส่เสื้อราชปะแตนคอปิด กระดุมห้าเม็ดเสมอ แตรวงของท่านมีถึง ๕๐ คน นับเป็นแตรวงที่ใหญ่มาก แตรวงของท่านไปช่วยงานใดจะครึกครื้นมาก แต่พอถึงเวลาค่ำ ก็แยกย้ายออกเป็นวงเล็ก ๆ ไปบรรเลงตามโรงภาพยนตร์ เวียนแทบทุกแห่ง   

เมื่อหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) กลับมาจากประเทศอินโดนีเซียครั้งแรก ได้นำอังกะลุงของชวากลับมาเมืองไทย และได้นำไปมอบให้นายเอื้อนจัดการเหลาอังกะลุงชุดแรกขึ้นในเมืองไทย อังกะลุงชุดต้น ๆ นั้นกระบอกโตมาก ทั้งใหญ่และทั้งหนักมาก เขย่ากันทีไรคนเขย่าก็เหงื่อชุ่มกันไปทั้งตัวเหมือนชื่อ นายชุ่มคนเหลา ต่อมาครูเอื้อนจึงได้ประดิษฐ์ให้มีขนาดย่อมลงและเขย่าได้สบายขึ้น จึงได้ชื่อว่า บ้านนายเอื้อน ที่ต้นกำเนิดการเหลาอังกะลุงของเมืองไทย   

นอกจากศิษย์ที่ชื่อ ชุ่ม แล้ว ครูเอื้อนยังมีศิษย์อีกหลายคน อาทิ นายลาภ ณ บรรเลง นายเติม (ระนาด) นายเอิบ (นักร้องเพลงภาษา) นายบุญช่วย (ทหารรักษาวัง) และนายบุญรอด หรือแม้แต่นายเผือดนักระนาดก็เคยอยู่ในบ้านของครูเอื้อนมาก่อน นอกจากนี้ก็มีนายละม่อม (สุวัฒน์ พุ่มเสนาะ) เป็นต้น   

ชีวิตครอบครัว ครูเอื้อน มีภรรยาคนแรกชื่อ พิศ  ไม่มีบุตรด้วยกัน แล้วมาได้ภรรยาเป็นหญิงเขมรอีกคนหนึ่งชื่อ พงศ์ รายนี้ลือกันว่าทำเสน่ห์ให้ท่านลุ่มหลงจนถึงบ้านแตกสาแหรกขาด ขายทั้งบ้านขายทั้งเครื่องดนตรี จนสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน แล้วจึงมาได้ภรรยาคนที่สามชื่อ จันทร์ เป็นคนสุดท้ายก็ไม่มีบุตรสืบสกุลอีก   

ในด้านฝีมือของครูเอื้อนนั้น เล่าว่าท่านเก่งรอบวง ที่ชำนาญคือ เครื่องเป่า อันได้แก่ ปี่ทุกประเภท แม้แต่ปี่นายรังที่ว่าเป่ายาว ท่านก็เดี่ยวออกแสดงอยู่บ่อย ๆ จนถึงประชันกัน ในบั้นปลายของชีวิต เมื่อสิ้นเนื้อประดาตัว ขายที่ขายทาง ขายเครื่องดนตรีหมดแล้ว ได้ย้ายไปอยู่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และถึงแก่กรรมที่นั่นขณะเป่าปี่ แล้วไอเป็นเลือดอย่างรุนแรง เข้าใจว่าจะเป็นวัณโรค   

ครูเอื้อน ดิษฐเชย นั้นชีวิตของท่านเปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ให้นักดนตรีได้พักพิงมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ระหว่างสมัยรัชกาลที่ ๖-๗ แต่ชะตาชีวิตท่านต้องพ่ายแพ้ สิ้นเนื้อประดาตัวในตอนสุดท้าย ประมาณว่าท่านถึงแก่กรรมเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ รวมอายุได้ประมาณ ๖๐ ปีเศษ 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ นายไมตรี พุ่มเสนาะ และ นายพิมพ์ พวงนาค) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.