เอื้อน กรณ์เกษม (พ.ศ. ๒๔๖๑-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

เอื้อน กรณ์เกษม (พ.ศ. ๒๔๖๑-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

เอื้อน กรณ์เกษม

(พ.ศ. ๒๔๖๑-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

 

ครูปี่พาทย์และคนเครื่องหนังที่มีชื่อเสียงดีอีกคนหนึ่งของ “วงฝั่งขะโน้น” ในสมัยปัจจุบันเห็นจะได้แก่ ครูเอื้อน กรณ์เกษม   

ครูเอื้อน  เกิดเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นบุตรของนายเอมและนางแจ่ม  กรณ์เกษม  ซึ่งมีอาชีพทำสวนอยู่แถวบางบำพูล่าง (คลองสาน) มีพี่น้อง ๗ คน คือ นายเอื้อ นายอ่อง นางฉุน นายแจ่ม นายชอุ่ม และนางสาวทองพูน พี่น้องทุกคนไม่มีใครสนใจทางดนตรีเลย   

เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี บิดาผู้ซึ่งคุ้นเคยกับท่านจางวางทั่ว พาทยโกศล ได้พามาฝากให้เป็นศิษย์ที่สำนักพิณพาทย์หลังวัดกัลยาณมิตร ครูเอื้อนจึงพำนักอยู่ในละแวกนั้นตลอดมา และเริ่มต่อเพลงกับครูจางวางทั่วนับแต่แรกเริ่มตามลำดับเรื่อยมา หลังจากนั้นได้ต่อเพลงกับศิษย์รุ่นพี่ในสำนักบ้าง เช่น ต่อจากครูฉัตร สุนทรวาทิน ครูช่อ สุนทรวาทิน ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ครูเนียน นุชตมา ครูนพ ศรีเพชรดี ครูพังพอน แตงสืบพันธุ์ ดังนั้น เพลงที่ครูเอื้อนได้ไว้จึงมีขอบเขตกว้างขวาง นับตั้งแต่เพลงโหมโรง เพลงหน้าพาทย์ เพลงเรื่อง เพลงขับร้อง ฯลฯ  

นอกจากด้านเครื่องปี่พาทย์แล้ว ครูเอื้อน ได้ต่อวิชาเครื่องหนังกับ ครูแมว พาทยโกศล ครูยรรยงค์ โปร่งน้ำใจ อีกด้วย จนได้รับการยกย่องว่าเป็นครูเครื่องหนังคนสำคัญคนหนึ่ง   

พ.ศ. ๒๔๘๘  ได้เข้ารับราชการเป็นพนักงานอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนกระทั่งเกษียณอายุ ระหว่างนั้นก็มิได้ว่างเว้นงานทางด้านดนตรีเลย นอกจากจะต่อเพลงให้ศิษย์รุ่นหลัง ๆ ในสำนักของคุณครูจางวางทั่วแล้ว ครูเอื้อน ยังได้เคยไปต่อเพลงให้วงปี่พาทย์อีกหลายแห่ง เช่น วงบางขุนเทียน วงของครูบุญยงค์ เกตุคง ที่บ้านนายเรืองเดช  พุ่มไสว หน้าวัดเศวตฉัตร และในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ไปต่อเพลงให้วงนายสังเวียน เกิดผล ที่บ้านใหม่จังหวัดอยุธยา ตามคำชวนของครูช่อ สุนทรวาทิน และวงปี่พาทย์วัดพรหมนิวาสน์ จังหวัดอยุธยา จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ไปช่วยสอนที่โรงเรียนสตรีวิทยา อยู่ประมาณ ๒ ปีเศษ นอกจากด้านการสอนแล้ว ครูเอื้อน ยังได้ร่วมงานบรรเลงแทบทุกครั้งกับวงของคุณครูจางวางทั่ว  คือ วงพาทยโกศล เนื่องจากจำนวนคนเครื่องหนังมักจะหายากกว่าคนปี่พาทย์ ดังนั้นครูเอื้อนซึ่งมีความรู้ทางเครื่องหนังอยู่ จึงมักจะรับหน้าที่ตีเครื่องหนังอยู่เป็นนิตย์   

ครูเอื้อน สมรสกับ นางสาวพิมพ์ เส็งสุวรรณ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๖ คน คือ นางสาวเพ็ญจันทร์ นายเพิ่ม สามเณรอำพล นางสาวอรุณศรี นางสาวอัมพร และนางสาวอาภรณ์ น่าเสียดายที่บุตรธิดาไม่ได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีจากครูเอื้อนไว้เลย   

พ.ศ. ๒๕๒๕ ครูเอื้อน ป่วยด้วยโรคอัมพาต จึงไม่สามารถเล่นดนตรีได้อีก แต่ยังพอบอกเพลงได้บ้าง พำนักอยู่กับครอบครัวที่บ้านเลขที่ ๘๙๖ หลังวัดกัลยาณมิตร ซึ่งอยู่ติดกับบ้านพาทยโกศล 

 

อารดา กีระนันทน์  

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ นายเอื้อน กรณ์เกษม) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.