อัญชัญ ปิ่นทอง (พ.ศ. ๒๔๖๓-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

อัญชัญ ปิ่นทอง (พ.ศ. ๒๔๖๓-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)

อัญชัญ ปิ่นทอง

(พ.ศ. ๒๔๖๓-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

 

ครูอัญชัญ ปิ่นทอง เกิดในครอบครัวที่มีเชื้อสายนักดนตรีมาหลายชั่วคน นามสกุลเดิม อักษรทับ บิดาชื่อ รอด เป็นคนระนาดเอกประจำวงปี่พาทย์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (วงบางคอแหลม) มารดาชื่อ ชั้น สกุลเดิม สุนทรวาทิน ครูอัญชัญเป็นหลานตาของ นายชื่อ และนางหนู สุนทรวาทิน นายชื่อ เป็นลูกของครูช้อยและเป็นน้องชายแท้ ๆ ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ส่วนนางหนูผู้เป็นยายของครูอัญชัญนั้น เดิมนามสกุล พาทยโกศล เป็นบุตรีของหลวงกัลยาณมิตตาวาส และเป็นพี่สาวแท้ ๆ ของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล   

ครูอัญชัญ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ณ คุ้มเจ้าหลวงนครเชียงใหม่ โดยที่ในขณะนั้นบิดาและมารดาได้มาเป็นนักดนตรีประจำอยู่ที่นั้น มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวมทั้งตัวครูด้วย ๘ คน พี่สาวคนโตชื่อ เฉิด ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๖) เป็นครูสอนเครื่องสายอยู่ที่โรงเรียนราชินี เคยเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียงวงดนตรีวังบางขุนพรหมพร้อม ๆ กับคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ พี่ชายคนต่อมาชื่อ โชติ เป็นผู้ชำนาญเครื่องหนัง พี่สาวชื่อชิ้น (ประจงแสงศรี) เป็นเครื่องสาย คนที่ ๔ คือ ครูอัญชัญ ต่อไปเป็นน้องชาย ๒ คน มีชื่อว่า เช็คและชอลค์ ชำนาญด้านปี่พาทย์ทั้งคู่ คนต่อมาคือน้องสาวชื่อ เฉลิมศรี (หรหมสุวรรณ) เป็นนักร้อง และน้องชายคนสุดท้องชื่อ ดำรงค์ เป็นปี่พาทย์และเครื่องหนัง   

เมื่อเด็กได้เรียนหนังสือในคุ้มจนอ่านออกเขียนได้ แล้วเริ่มหัดดนตรีกับบิดามารดา มาตั้งแต่อายุ ๘ ปี โดยช่วยตีฉิ่ง ตีกรับ และเป็นลูกคู่ ขับร้องเพลงประกอบการแสดงละคร ต่อมาได้เรียนจะเข้ ซอด้วง ซออู้ จากเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ เมื่อโตเป็นสาว บิดาให้ไปอยู่ที่บ้านท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ณ ตำบลวัดกัลยาณ์ กรุงเทพมหานคร จึงได้เป็นศิษย์เรียนขับร้อง จากคุณแม่เจริญ พาทยโกศล (หม่อมเจริญ กุญชร ณ อยุธยา) และต่อเพลงจากคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ด้วย ระหว่างที่อยู่เชียงใหม่ก็เป็นช่างฟ้อน จึงมีความรู้ดีทั้งกระบวนเพลงและกระบวนรำ เครื่องดนตรีที่บรรเลงได้ถนัดที่สุดคือ จะเข้ เริ่มเป็นครูถ่ายทอดวิชาทางด้านดนตรีให้แก่ชาวเชียงใหม่ เมื่ออายุได้ ๓๐ ปี โดยเป็นครูสอนขับร้องและดนตรีที่โรงเรียนพีสี โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ วิทยาลัยเทคนิคพายัพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  สอนทั้งเครื่องสาย ขับร้อง ฟ้อนรำ และควบคุมวง พาศิษย์ออกแสดงทางวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๘ ลำปาง อยู่เสมอ ศิษย์ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ไพโรจน์ บุญผูก เป็นต้น   

ทางด้านชีวิตครอบครัว ครูอัญชัญ สมรสกับ ร.ท.วิชิต ปิ่นทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ มีบุตรีคนโตชื่อ วัลลีย์ และบุตรชายชื่อ ทวีศักดิ์ ทั้งสองคนเป็นนักดนตรีไทย สำหรับนายทวีศักดิ์นั้นสอนดนตรีอยู่ที่วิทยาลัยครู จังหวัดเชียงใหม่   

เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ครูอัญชัญพักอยู่กับบุตรชายที่วิทยาลัยครูจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงสอนดนตรีและขับร้องอยู่บ้าง แต่ไม่ได้สอนเป็นประจำอย่างแต่ก่อน ผลงานการบันทึกเสียงก็มีอยู่บ้าง คือ เคยร่วมวงกับญาติมิตร คณะสุนทรวาทินอัดแผ่นเสียง เพลงฟ้อนเมืองเหนือ และเพลงไทยอีกหลายเพลงกับห้าง ต.เง็กชวน ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๔๘๔ ครูอัญชัญใช้เวลาในการสอนดนตรีไทยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่มาตลอด นับได้ว่าเป็นครูดนตรีไทยคนสำคัญคนหนึ่งของจังหวัดนี้ 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก บันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย ซึ่งให้ข้อมูล โดย ครูอัญชัญ ปิ่นทอง) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.