อรุณ กอนกุล (พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๕๒๑) 

อรุณ กอนกุล (พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๕๒๑) 

อรุณ กอนกุล

(พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๕๒๑) 

 

ครูอรุณ  กอนกุล  เป็นบุตรของหลวงเทพพิจิตร (รื่น กอนกุล)  และนางแปร เกิดที่บ้านเลขที่ ๒๓๕๔ ตรอกสวนอนันต์ ตำบลสวนอนันต์ ธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น ๕ คน คือ หญิง “ปรุง” ชาย “โรจน์” ชาย “เริง” หญิง “ปรวน” ชาย “อรุณ” หญิง “ปราง”  เมื่อเล็กได้เรียนวิชาสามัญที่โรงเรียนโฆษิต (ภายหลังได้รวมกับโรงเรียนอัมรินทร์ แล้วครั้งสุดท้ายเปลี่ยนเป็นโรงเรียนทวีธาภิเศก) จนอ่านออกเขียนได้   

การศึกษาวิชาดนตรีนั้นได้เริ่มเรียนปี่พาทย์จาก ครูชื่น วัชชวิพุฒ ซึ่งเป็นอาแท้ ๆ ตั้งแต่ยังเล็ก (ครูชื่นนี้เคยเป็นคนปี่พาทย์ประจำวังบางขุนพรหมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต  รุ่นเดียวกับครูจางวางทั่วพาทยโกศล แต่ในภายหลังไม่ปรารถนาจะรับราชการ จึงกราบทูลลาออกมาประกอบอาชีพทางดนตรีเป็นการส่วนดัว  เหตุที่มิได้ใช้นามสกุล “กอนกุล” เหมือนหลวงเทพพิจิตรผู้เป็นพี่ชายก็เพราะได้รับพระราชทานนามสกุล “วัชชวิพุฒ” จากทูลกระหม่อมบริพัตรเมื่อครั้งยังอยู่ในวังบางขุนพรหม) ภายหลังเป็นบิดาพาไปฝากไว้ที่บ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังในสมัยรัชกาลที่ ๖  จึงได้ศึกษาวิชาดนตรีชั้นสูงจากพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ซึ่งเป็นครูปี่พาทย์ประจำบ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีต่อมา   

หน้าที่การงานของครูอรุณนั้นเริ่มด้วยเข้ารับราชการทหารเป็นทหารรักษาวังในสังกัดเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีนั้นเอง เมื่อพ้นราชการทหารแล้วนางปุ้ย  ลูกผู้พี่ซึ่งเป็นคุณพนักงานในพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมคนแรกได้พาไปถวายตัวในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ครูอรุณจึงได้เข้ารับราชการในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เรื่อยมาตั้งแต่ทำหน้าที่เดินหนังสือจนได้เป็นประจำแผนกชั้นตรี จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงลาออกจากราชการ  ต่อมาเมื่อพลโท ม.ล.ขาบ กุญชร  จัดให้มีวงดนตรีไทยประจำกรมประชาสัมพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรก นายแม่น ชลานุเคราะห์ และครูพุ่ม บาปุยะวาส  จึงได้แนะนำครูอรุณเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งในกรมประชาสัมพันธ์จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕   

ในด้านความสามารถและผลงานทางดนตรีนั้น ครูอรุณเล่นเครื่องปี่พาทย์ได้ทุกชนิด ยกเว้นปี่ แต่ที่ถนัดเป็นพิเศษคือ ระนาดเอกกับเครื่องหนังในสมัยเมื่อวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ยังนิยมบรรเลงกันอยู่โดยแพร่หลายนั้น ครูอรุณได้รับหน้าที่เป็นคนทุ้มเหล็กประจำวงปี่พาทย์บ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ผู้เขียนได้เคยเห็นครูอรุณปฏิบัติหน้าที่คนระนาดเอกและเครื่องหนัง ระยะหลังเกษียณอายุราชการแล้ว กับวงปี่พาทย์ที่บ้านครูมิ ทรัพย์เย็น อยู่บ่อย ๆ สำเนียงนั้นเป็นเสมือนที่โบราณประเพณีในการสังคีตนิยมกันว่าดี กล่าวคือ เสียงชัดเจน สะอาด ดังโต แม่นยำ รู้ช่องควรทำไม่ควรทำ ครูสอน วงฆ้อง ซึ่งเป็นนักดนตรีร่วมรุ่นเดียวกันกับครูอรุณทั้งความเป็นศิษย์ครูเดียวกัน และความเป็นนักดนตรีร่วมวงเดียวกันมาตลอด เคยกล่าวชมฝีมือตีทุ้มของครูอรุณให้ผู้เขียนฟังว่า “ตีดี ตีเพราะไม่ลุกลนหยาบคาย” ซึ่งนับได้ว่าเป็นระเบียบปฏิบัติอันดีงามของระนาดทุ้มมาแต่โบราณ แต่เหตุที่ครูอรุณมิได้เข้ารับราชการในกรมศิลปากรเหมือนเพื่อนร่วมรุ่นร่วมสำนัก เช่น ครูมิ ครูเทียบ ครูพริ้ง ครูสอนนั้น ก็เพราะได้รับราชการในกระทรวงพาณิชย์ฯ อยู่แล้วแต่ต้นโดยพระกรุณาของพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน   

เมื่อครั้งที่ออกจากราชการในกระทรวงพาณิชย์ ฯ นั้น ครูอรุณได้ตั้งวงปี่พาทย์ของตนขึ้นทำมาหากินเป็นอิสระโดยซื้อเครื่องปี่พาทย์จากครูสุ่ม ดนตรีเจริญ ตั้งชื่อวงว่า “ปี่พาทย์สวนอนันต์” มี ครูพุ่ม บาปุยะวาส เป็นคนระนาด ครูพิษณุ แช่มบาง เป็นคนฆ้องใหญ่ ครูแกละ (คนฆ้องเล็กบ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี) เป็นคนฆ้องเล็ก และครูแสวง วิเศษสุด เป็นคนทุ้ม ครูมิ ทรัพย์เย็น เป็นคนตะโพนไทย ครูถีร ปี่เพราะ เป็นคนตะโพนมอญ ครูเทียบ คงลายทอง เป็นคนปี่ ครูอรุณนั้น รับหน้าที่เป็นคนระนาดสำรองหรือเครื่องอื่นตามโอกาส ครูพริ้ง ดนตรีรส กับครูสอน วงฆ้อง นั้นถึงมิได้เป็นคนประจำแต่ก็ไปช่วยงานอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นการบรรเลงบัวลอย ครูเทียบเป็นคนเป่าปี่ชวา ครูพริ้ง ดนตรีรส จะเป็นคนกลองตัวผู้ ครูอรุณตีตัวเมีย ส่วนครูมินั้นจะเป็นคนตีโหม่ง เพราะรู้จังหวะทางขึ้นทางลงเป็นอย่างดี วงปี่พาทย์สวนอนันต์นี้เป็นที่รู้จักนิยมกันโดยแพร่หลายทางฝั่งธนบุรีในสมัยนั้น เพราะนอกจากจะรวบรวมผู้มีฝีมือบรรเลงกันเป็นหลักฐานแล้วก็จัดให้มีการออกทางเครื่องด้วยคนรำอีกเป็นชุด ๆ  เป็นที่ครึกครื้นยิ่ง  ทั้งนี้เพราะภรรยาของครูถีร ปี่เพราะ  ชื่อ    “เหรียญ” นั้นเป็นนักฟ้อนมาจากทางเหนือ จึงนำความรู้มาฝึกหัดลูกหลานของนักดนตรีผู้ร่วมวงและคนรู้จัก รวมตัวกันเป็นชุดหางเครื่องลาว มอญ เงี้ยว พม่า ได้อย่างสวยงาม ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นหลักฐานการจ่ายเงินค่าตัวในสมัยนั้น ซึ่งจากนักดนตรีถึงคนละ ๑๕ บาท และรับงานครั้งหนึ่ง ๆ เป็นเงินถึง ๔๔๕ บาท ย่อมแสดงว่าเป็นวงปี่พาทย์ที่ได้รับความนิยมสูงวงหนึ่ง ควรแก่การบันทึกไว้ในประวัติการสังคีตสยาม   

ครูอรุณนั้นได้ชื่อว่า เป็นผู้เคร่งครัดนับถือครูบาอาจารย์เป็นยิ่งนัก ในการท่องเพลงหน้าพาทย์สำคัญ ๆ เช่น ตระชั้นสูง พราหมณ์เข้า พราหมณ์ออก บาทสกุณี ฯลฯ เหล่านี้ ครูอรุณจะไม่ยอมท่องด้วยเครื่องดนตรีเป็นอันขาด แต่จะใช้วิธีนึกในใจแทน อย่างมากที่สุดก็เพียงทำมือเป็นลักษณะตีฆ้องอยู่ในอากาศแทนเท่านั้น เหนือศีระที่นอน ครูอรุณมีตะโพนและรูปพระยาเสนาะดุริยางค์บูชาไว้เสมอจนสิ้นอายุขัย   

นอกจากจะมีความสามารถทางดนตรีแล้วครูอรุณยังมีความรู้ในการขึ้นหนังหน้ากลองต่าง ๆ ได้อีกด้วย ทั้งยังมีความผูกพันใกล้ชิดกับครูมิ  ทรัพย์เย็น เป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะร่วมรุ่นร่วมวงกันมาแต่ต้นแล้ว ก็ยังอยู่บ้านใกล้ ๆ กันอีกด้วย เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้เขียนได้ไปกราบอวยพรปีใหม่ที่บ้านยังได้ยินครูอรุณกล่าวถึงครูมิว่า “ตั้งแต่เขา (หมายถึงครูมิ) เสีย ผมยังไม่ได้ลงสักแป๋งเดียว (หมายถึงไม่ได้ทำปี่พาทย์)” ครูมินั้นสิ้นเมื่อปี ๒๕๑๕ ซึ่งหมายความว่าครูอรุณไม่ได้ตีเครื่องปี่พาทย์เลยถึง ๕ ปีเต็ม จนถึงวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ก็สิ้นชีวิตด้วยโรคชรา สิริอายุได้ ๗๗ ปี   

ในด้านชีวิตครอบครัว ครูอรุณ สมรสกับ นางชั้น คนบ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีนั้นเอง แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน 

 

พิชิต ชัยเสรี  

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่า ของ พ.จ.อ. สุรัตน์ ยุวนะวณิช นักดนตรีหมวดซอวง กองดุริยางค์ทหารเรือ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานเกิดแต่นางปราง น้องสาวของครูอรุณ) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.