หรั่ง พุ่มทองสุก (ไม่ทราบปีที่เกิด  และปีที่ถึงแก่กรรม) 

หรั่ง พุ่มทองสุก (ไม่ทราบปีที่เกิด  และปีที่ถึงแก่กรรม) 

หรั่ง พุ่มทองสุก

(ไม่ทราบปีที่เกิด  และปีที่ถึงแก่กรรม) 

 

นายหรั่ง  พุ่มทองสุก เป็นนักดนตรีและครูดนตรีไทย มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งสมัยรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองบางจาก และเนื่องจากเป็นเพื่อนเล่นดนตรีสนิทสนมกับเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) อธิบดีศาลยุติธรรม ท่านเจ้าคุณจึงขอให้ย้ายบ้านมาอยู่ใกล้กับบ้านของท่านที่ปากน้ำภาษีเจริญ ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ คือราว พ.ศ. ๒๔๕๐   

ครูหรั่งมีฝีมือรอบตัว เก่งทั้งปี่พาทย์และเครื่องสาย ชอบความเป็นอยู่ง่าย ๆ ไม่พิถีพิถันนัก  เมื่อมีผู้มาตามให้เข้าไปรับราชการในกรมมหรสพสมัยรัชกาลที่ ๖ ท่านก็ไม่ยอมไปคงเก็บตัวอยู่กับบ้านสอนลูก ๆ หลาน ๆ และผู้ที่นำบุตรหลานมาฝากไว้ในบ้าน เป็นเจ้าของวงดนตรีมีปี่พาทย์ เครื่องสาย และมโหรี ครบครัน รับงานบ้างเป็นครั้งคราวแต่ไม่บ่อยนัก เนื่องจากเป็นคนใจเย็นอัธยาศัยนุ่มนวล จึงมีผู้เคารพนับถือมาก  

ครููหรั่ง มีภรรยาชื่อ เจียม มีบุตร ๑๓ คน  ถึงแก่กรรมเสีย ๖ คน เหลือ ๗ คน บุตรี ๕ คนแรกได้เข้าไปอยู่ในอุปถัมภ์ของพระสุจริตสุดา พระสนมเอก ในรัชการที่ ๖ ซึ่งคุณพระสุจริตสุดานี้เป็นธิดาคนใหญ่ของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีนั่นเอง บุตรทุกคนทั้งชายหญิงมีความสามารถทางดนตรีทุกคนคือ 

หญิง ชื่อ สุดใจ  พอเล่นซอได้แต่ไม่ชอบเล่น   

หญิง ชื่อ ประคอง  ต่อมาคือ คุณครูนิภา อภัยวงศ์   

หญิง ชื่อ แฉล้ม  ต่อมาคือ คุณแฉล้ม  สุวรรณเกศ  คนซอด้วงวงเครื่องของพระสุจริตสุดา   

หญิง ชื่อ เฉลา  ประจำวงเครื่องสาย พระสุจริตสุดา   

หญิง ชื่อ เฉลียว  สีซออู้ และตีฉิ่ง   

ชาย ชื่อ ราศี เป็นคนเก่งเล่นปี่พาทย์ได้รอบวงเคยสังกัดวงดนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สมัย ม.ล. ขาบ กุญชร เป็นอธิบดี   

ชาย ชื่อ สะอาด  เป็นระนาด อยู่จังหวัดจันทบุรี   

ศิษย์ของครูหรั่งที่สำคัญคือ ครูบุญยงค์ เกตุคง  ครูบุญยัง เกตุคง  ครูสมาน ทองสุโชติ เป็นต้น รายละเอียด นอกจากนี้ยังค้นไม่ได้ 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียบจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ครูนิภา อภัยวงศ์) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.