หนู อมาตยกุล (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๐๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๐) 

หนู อมาตยกุล (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๐๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๐) 

หนู อมาตยกุล

(ประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๐๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๐) 

 

นายหนู  อมาตยกุล เป็นบุตรของ พระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) และคุณนิ่ม (ไกรฤกษ์) เกิดในสมัยรัชการที่ ๔ (ราวปี พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๐๘) ที่บ้านหน้าวัดเลียบ บริเวณที่เป็นเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าปัจจุบัน มีน้องสาวร่วมบิดามารดาชื่อ เจ้าจอมสังวาลย์ในรัชการที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการดีดกระจับปี่และเป็นมโหรีหลวงในราชสำนัก รัชกาลที่ ๕  

นายหนู เรียนวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก มีความสนใจในวิชาช่างทุกชนิด ได้เรียนวิชาเคมีและไฟฟ้าจนชำนาญ สามารถในการชุบทองเงินนากได้ จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้านายฝ่ายในให้เป็นช่างประจำราชสำนัก แต่ไม่ชอบรับราชการ นอกจากเป็นช่างชุบแล้วยังมีฝีมือในการสร้างเครื่องดนตรี เช่น จะเข้ ซอและขลุ่ย เป็นต้น จะเข้ของท่านมิได้ทำขายทั่วไป แต่ทำเป็นจะเข้าฝีมือดี เสียงดี แล้วส่งไปถวายเจ้านายหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีวงเครื่องสาย อาทิวังบางขุนพรหม และในวังหลวง เป็นต้น   

นายหนูจะเรียนดนตรีจากท่านผู้ใดยังสืบไม่ได้ แต่ในบ้านวัดเลียบของท่านนั้น มีผู้นิยมเล่นเครื่องสายกันอยู่เสมอมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๓ แล้ว น้องสาวของท่านคือ เจ้าจอมสังวาลย์นั้นก็เป็นดนตรีมาแต่เด็ก จนอายุ ๑๐ ขวบ จึงได้เข้าไปเรียนดนตรีต่อในวังหลวง

ในด้านฝีมือ ไม่จัดว่ามีฝีมือยอดเยี่ยม ในเครื่องมือประเภทหนึ่งประเภทใดโดยเฉพาะ แต่เล่นเครื่องสายได้รอบวง รวมทั้งสีไวโอลินได้อย่างดี ท่านเป็นนักฟังเพลงและสนับสนุนลูกหลานในบ้านให้เรียนดนตรีไทย ท่านมีพี่สาว (ลูกผู้พี่) อีกคนหนึ่งคือ เจ้าจอมประคอง ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งก็ชำนาญซอสามสาย   

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ท่านย้ายบ้านมาอยู่ที่ถนนรองเมือง ทุกวันเสาร์ บ้านของท่านจะเป็นที่ชุมนุมนักดนตรีไทยทุกรุ่น อาทิ จางวางทั่ว หม่อมเจริญ หลวงไพเราะเสียงซอ พระยาภูมีเสวิน นายพุฒ นันทพล มาร่วมเล่นเครื่องสายกันจนดึก บางทีก็ถึงรุ่งเช้า   

นายหนูมีภรรยาหลายคน ภรรยาคนแรก ชื่อหนู เป็นบุตรีของพระยาธรรมสารนิติ (ตาด อมาตยกุล) และคุณบุศย์ จึงเรียกว่าได้แต่งงานกับญาติวงศ์เดียวกัน แต่คนละสาย คุณหนูผู้ภรรยานี้เป็นนักร้องชำนาญเพลงสามชั้น เสียงไพเราะมาก บุตรของท่าน ๔ คน เป็นนักดนตรีทุกคนคือ   

๑. พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล (ประสงค์ อมาตยกุล) ผู้เชี่ยวชาญซอสามสาย   

๒. คุณเฒ่าแก่ดรุณี ชำนาญจะเข้ (ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้ ยังอยู่ในวังหลวง)    

๓. คุณอาภรณ์ (ตุ๊) สีซอด้วง    

๔. ขุนอมาตยพงศ์ (ศิริ อมาตยกุล) ขลุ่ย และเครื่องหนัง (ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้ยังมีชีวิตอยู่ที่บ้านจังหวัดนนทบุรี)   

นายหนูยังมีบุตรกับภรรยาอื่น ๆ อีก ๑ คน ทุกคนได้เรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก แต่เลิกเล่นไป มีบุตรีอีกคนหนึ่งชื่อ วงษ์ อมาตยกุล เป็นนักร้อง 

นายหนู อมาตยกุล เป็นนักสะสมแผ่นเสียง และเครื่องเล่นจานเสียงสมัยโบราณประเภทไขลาน ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการประกวดเครื่องเสียงและแผ่นเสียงที่ท้องสนามหลวง ครั้งหนึ่งเครื่องเล่นจานของท่านได้รับรางวัลที่ ๑ เล่ากันว่า ท่านมีแผ่นเสียงโบราณครบทุกชุด มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ของทั้งหมดนี้มาถูกไฟไหม้หมดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เอง ตลอดชีวิตของท่าน ท่านได้ชื่อว่าเป็นนักดนตรี ช่างทำเครื่องดนตรี และหัวหน้าวงดนตรีสมัครเล่น 

นายหนูมีชีวิตต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๐ อายุประมาณ ๖๐ ปีเศษ ส่วนคุณหนูภรรยาของท่านยังเป็นนักร้องต่อมา ร้องเพลงได้จนอายุ ๗๐ เสียงก็ยังเพราะ คุณหนูผู้ภรรยาถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๗๖ ปี 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก การสัมภาษณ์ ดร.มนู อมาตยกุล) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.