ร.อ.แสวง วิเศษสุด ร.น. (พ.ศ. ๒๔๕๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

ร.อ.แสวง วิเศษสุด ร.น. (พ.ศ. ๒๔๕๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

ร.อ.แสวง วิเศษสุด ร.น.

(พ.ศ. ๒๔๕๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

 

ครูแสวง  วิเศษสุด  เป็นบุตรของขุนบรรณาการวิจิตรและนางวร  เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ ปีกุน ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๔ ตำบลสวนอนันต์ บ้านช่างหล่อ ธนบุรี  

จบการศึกษาวิชาสามัญจากโรงเรียนวัดสุทัศน์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ การศึกษาวิชาดนตรีนั้นเริ่มต้นที่ครูปู่คล้อย บ้านช่างหล่อ ด้วยการจับมือฆ้องใหญ่ เพลงสาธุการ หลังจากนั้นจึงได้เรียนฆ้องจากครูชื่น วัชชวิพุฒ เรียนทุ้มจากครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ (พุ่มเล็ก) เรียนกลองแขกจากครูเหมือน วัดสระเกศ เรียนตะโพนจากครูมั้ว วัชชวิพุฒ ต่อมาได้เข้าเป็นนักเรียนดุริยางค์ทหารเรือ จึงได้เรียนดนตรีตะวันตกควบคู่ไปกับดนตรีไทยและยังได้หัดเครื่องสายจากครูเจิม ที่กองดุริยางค์ทหารเรืออีกด้วย ในระยะหลังได้ต่อหน้าทับกลองแขกเพิ่มเติมจากหลวงสิทธิวาทิน (ลาย อังศุวาทิน) ในกรมพิณพาทย์หลวง และต่อทางร้องจากจางวางทั่ว และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) อีกเป็นอันมาก  

หน้าที่การงานของครูแสวง เริ่มด้วยการเข้าเป็นนักเรียนเหล่าดุริยางค์ทหารเรือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ จนจบการศึกษา ซึ่งได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือนไปพร้อมกัน จึงได้รับการบรรจุเข้าสังกัดกองดุริยางค์ กองทัพเรือ เลื่อนยศตำแหน่งมาตามลำดับจนได้ยศเรือเอก ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหมวดดนตรีไทย กองดุริยางค์ทหารเรือ ดำรงตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนเกษียณอายุราชการ หลังจากนั้นไปเป็นครูสอนดนตรีไทยตามสถาบันต่าง ๆ เช่น วิทยาลัยวชิรพยาบาล โรงเรียนสาธิตปทุมวัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนบดินทร์เดชา โรงเรียนนายเรือ  

ครูแสวงเล่นดนตรีได้ทุกเครื่องมือ ยกเว้นปี่กับซอสามสาย แต่ที่ถนัดเป็นพิเศษ คือ ฆ้องวงใหญ่และระนาดทุ้ม แต่เวลาสอนนั้น ถนัดสอนวงเครื่องสายมากกว่าวงปี่พาทย์ นอกจากนี้ครูแสวงยังแต่งเพลงไว้อีกด้วย เช่น ลีลากระทุ่มเถา กล่อมพญาเถา โหมโรงมหาฤกษ์ (คนละสำนวนกับของอาจารย์มนตรี ตราโมท) สิ่งที่ควรบันทึกไว้เป็นพิเศษ คือ การริเริ่มเป็นต้นคิดรวมการบรรเลงของวงดนตรีไทยเข้ากับวงดนตรีสากลของทหารเรือเป็นคนแรก และให้ชื่อว่า “สังคีตวิวัฒน์” โดยได้รับคำสั่งจาก น.อ.ภิญโญ เพ็งสำรวย ร.น.ผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น  

ครูแสวง สมรสกับนางสาวทับทิม มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๓ คน คือ ทิพวรรณ (หญิง) เพทาย (ชาย) เมธี (ชาย) 

 

พิชิต ชัยเสรี  

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของครูแสวง วิเศษสุด) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.